เมื่อถึงวันปฏิบัติหน้าที่พิธีกร จะตื่นเต้นที่สำคัญต้องพักผ่อนให้เพียงพอ พิธีกรที่ดีจะต้องไปก่อนงานเริ่มอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่ เช่น ตรวจสอบโพเดียมว่าสูงพอดีหรือไม่ ไมโครโฟนเวลาพูดแล้วเสียงดังไปหรือเบาไปตรวจสอบระยะให้พอดี ประสานงานกับผู้ควบคุมเสียงด้านเทคนิค ไฟแสงสว่างถ้ามีข้อขัดข้องจะได้เรียกแก้ไขได้ทันที และประสานงานกับฝ่ายเทคโนโลยีที่จะต้องใช้ประกอบการบรรยาย เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต มอนิเตอร์ เป็นต้น เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาดูความพร้อมของตัวเอง การขึ้นพูดบนเวที หรือยืนที่โพเดียมในบทบาทหน้าที่พิธีกรจะต้องใช้ทักษะการพูด และการเตรียมพร้อมทุกครั้งต้องเตรียมสคริปต์ เนื้อหา การวางบุคลิก เสื้อผ้า หน้า ผม ให้เหมาะสมกับวาระ โอกาส เช่น งานประชุมวิชาการต้องใส่เสื้อผ้าที่เรียบร้อยเป็นทางการ งานพบปะสังสรรค์แต่งตัวตามสไตร์ของงาน งานแต่งงานเป็นไปตามตรีมของงานนั้นๆ เป็นต้น
ในที่นี้จะกล่าวถึงพิธีกรงานประชุมวิชาการอาจจะทำให้มีอาการประหม่ามากกว่างานอื่นๆ เพราะผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเป็นส่วนมาก รวมถึงวิทยากรผู้บรรยายเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ฉะนั้นพิธีกรจะต้องทำการบ้านมากพอสมควรในเรื่องประวัติของวิทยากรแต่ละท่าน ถ้าไม่แน่ใจให้ติดต่อผู้จัดงานหรือมีโอกาสสอบถามจากตัววิทยากรเองเลยก็สามารถทำได้กรณีไม่แน่ใจ หรือกลัวว่าจะอ่านชื่อหรือนามสกุลผิด เพราะคำบางคำอ่านได้สองอย่าง ดิฉันเคยได้ข้อมูลมาไม่ถูกต้องและทำให้เกิดการผิดพลาด ทางที่ดีถ้ามีโอกาสสอบถามจากตัววิทยากรเองเลยก็จะเป็นการดี
ก่อนขึ้นโพเดียมไม่ต้อง คิดว่าจะก้าวขาไหนขึ้นก่อนดีให้ทำตัวตามสบายและมีความมั่นใจให้มากที่สุด การแสดงออกทางกาย กิริยา ท่าทาง ในการปรากฏตัว การสบตาการไหว้ทักทาย… เรียน ผู้บริหารตำแหน่งต่างๆ ไล่จากใหญ่สุด และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน สวัสดีค่ะ ดิฉัน/กระผม (ชื่อ หรือ+ตำแหน่ง) ทำหน้าที่พิธีกรวันนี้ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่งาน……. จัดขึ้นโดย… การใช้น้ำเสียงกริยาท่าทางในแต่ละข้อความที่พูดจะใช้ไม่เหมือนกัน เช่น การพูดประชาสัมพันธ์ทั่วๆ ไป พูดและยิ้มไปด้วยพร้อมทั้งการผายมือบอกทาง กับการพูดเข้าสู่พิธีการ ลักษณะการพูดหรือน้ำเสียงอาจจะต้องปรับไปตามสถานการณ์นั้นๆ ด้วยเพื่อให้การพูดมีสีสันกว่าที่จะพูดแบบเดียวกันทั้งหมด เริ่มแรกจะประชาสัมพันธ์ภาพงานโดยรวมแต่ไม่ต้องกล่าวทั้งหมดเพราะผู้กล่าวรายงานแก่ประธานเปิดงานจะเป็นผู้กล่าวเอง พิธีกรจะพูดเรื่อง สถานที่ อาหารเบรก อาหารกลางวัน ห้องน้ำ และเรื่องการเดินทางสถานที่ใกล้เคียงเผื่อผู้เข้าประชุมมาจากต่างจังหวัด เมื่อถึงเวลาเปิดงาน เรียนเชิญ ผู้กล่าวรายงาน กล่าวรายงานการประชุมแก่ประธานเปิดงาน และผู้กล่าวรายงานจะเป็นผู้เรียนเชิญประธานเปิดงานเอง หรือจะให้พิธีกรเรียนเชิญ ให้ตกลงกันก่อน เมื่อประธานกล่าวเปิดงานเสร็จแล้ว กล่าวขอบคุณพร้อมเรียนเชิญถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน กรณีนี้อาจจะต้องบอกท่านก่อนและบอกแก่แขกผู้มีเกียรติที่จะเชิญถ่ายภาพร่วมด้วย เป็นอันเสร็จพิธีการเปิดประชุม
เริ่มหัวข้อบรรยาย จะให้เป็นแนวทางในการแนะนำวิทยากรผู้บรรยาย และการกล่าวขอบคุณวิทยากรเมื่อบรรยายเสร็จ
ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การประชุมวิชาการประจำปี … ครั้งที่ …….
โดยหัวข้อแรกในวันนี้ เป็นการบรรยายในหัวข้อเรื่อง…………………………
ซึ่งท่านวิทยากร ที่ให้เกียรติมาบรรยาย ในเรื่องนี้ ท่านสำเร็จการศึกษา ………เชี่ยวชาญ………
ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่ง ………………………..
ขอเรียนเชิญ ………………………..
เมื่อกล่าวเชิญวิทยากรเสร็จแล้ว พิธีกรจะต้องนั่งฟังบรรยายด้วยจนจบเพราะวิทยากรอาจจะต้องการความช่วยเหลือบางอย่าง และจดข้อความสำคัญที่วิทยากรบรรยายเพื่อกล่าวสรุปในตอนท้าย แต่มีข้อแนะนำว่าการกล่าวขอบคุณหรือสรุปหัวข้อบรรยายไม่ควรยาวมากนัก เพราะผู้ฟังอาจจะรู้สึกเบื่อได้
…..ท่านใดมีข้อคำถามขอเรียนเชิญได้เลยค่ะ…..สุดท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในการบรรยายนี้ และ ขอขอบคุณ ………………. ที่ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ ขอบคุณค่ะ
เมื่อถึงช่วงเบรกหรือเวลาอาหารกลางวัน
…………..ขอเรียนเชิญทุกท่าน พักรับประทานอาหารว่าง และชมบูทแสดง….. บริเวณลานหน้าห้องประชุม เชิญ และกลับมาพบกันเวลา……ค่ะ
ขอเรียนเชิญทุกท่าน พักรับประทานอาหาร ณ ห้องอาหาร ….. ชั้น …. และกลับมาพบกันเวลา……ค่ะ
สวัสดียามบ่ายค่ะ เป็นอย่างไรบ้างคะ อาหารอร่อยไหมคะ ช่วงบ่ายอาจจะเป็นเวลาที่ทุกท่านอยากหลับหลังจากหนังท้องตึง แต่หัวข้อต่อไปนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจจนท่านไม่อยากกระพริบตาเลยค่ะ……… (เกริ่นก่อนเข้ารายการต่อไป)
เมื่อการบรรยายเสร็จสิ้นลง ถ้ามีรายการแจกของรางวัลต้องทำก่อน และเชิญผู้กล่าวปิดการประชุม และสุดท้ายขอเชิญผู้ร่วมประชุมถ่ายภาพร่วมกัน เป็นอันหมดหน้าที่พิธีกร
ทริปสำหรับพิธีกรมือใหม่
คำที่ไม่ควรใช้บนเวที เช่น คำว่า “อุตส่าห์” พิธีกรกล่าวว่า – – วันนี้ ท่านประธานฯ อุตส่าห์มากล่าวเปิดงานในวันนี้ หรืออีกคำที่ใช้กันบ่อยๆ “เพื่อไม่ให้เสียเวลา” คิดว่าทุกคนที่มาไม่ทำให้เสียเวลาหรอกค่ะ อาจจะเปลี่ยนเป็น “เพื่อความรวดเร็ว” ที่ดิฉันเคยใช้บ่อย เพื่อความรวดเร็วเราจะได้กลับบ้านเร็วรถไม่ติด ก็เล่นมุขเบาๆ ไป หรือไม่ต้องพูดจะเข้าเนื้อหาไปเลยดีที่สุดค่ะ การแนะนำวิทยากรกรณีที่วิทยากรอยู่บนเวทีแล้วควรจะกล่าวแนะนำชื่อวิทยากรก่อน ถ้ากล่าวประวัติก่อนอาจจะนาน ทำให้วิทยากรเก้อเขินได้เพราะอยู่บนเวทีนานแล้ว และเรื่องสำคัญสุดๆ เป็นเรื่องการจัดทำสคริปต์ ถ้าไม่ได้ร่างสคริปต์เองจะต้องตรวจและปรับให้ถูกต้องและสามารถสร้างสำนวนของตัวเองเมื่อพูดจะได้คล่องๆ และสำคัญการอ่านสคริปต์ให้เหมือนพูดต้องฝึกซ้อมค่ะ จะเน้นตรงไหนทำตัวหนาหรือขีดเส้นใต้ไว้ แบ่งคิวแต่ละช่วงให้ชัดเจน ดิฉันจะแยกแผ่น เสร็จช่วงไหนก็เก็บไป และอีกเรื่องที่สำคัญการควบคุมเวลาจะต้องเคร่งครัดเพราะถ้าเวลาเลื่อนจะทำให้กระทบช่วงอื่นๆไปด้วย มีป้ายเตือนและหมดเวลา การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะต้องมีสติอย่าลนลานจะดูไม่งามค่ะ
ขอแนะนำสำหรับพิธีกรมือใหม่เพียงเท่านี้นะคะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านและได้นำไปใช้ในการทำหน้าที่พิธีกรในอนาคตค่ะ