ใคร ๆ ก็ว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เพราะตามลักษณะภูมิประเทศแล้วเมืองไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงทำให้มีอากาศร้อนชื้น แต่ไม่ว่าลักษณะอากาศจะเป็นเช่นไร คนไทยก็ปรับตัวได้เสมอ
เคยสงสัยไหมคะว่าคนไทยสมัยก่อนเค้ามีวิธีการคลายร้อนอย่างไร ?
วันก่อนได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง “สี่แผ่นดิน” กันเรื่องจริงในราชสำนักสยาม ของคุณศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ได้กล่าวถึงวิธีคลายร้อนแบบไทย ๆ ซึ่งอยู่ในตอนหนึ่งของนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน โดยกล่าวถึงตอนที่แม่แช่มกลับมาเยี่ยมพลอยที่วัง พลอยถามแม่ว่า “แม่มาถึงเมื่อไร” แม่แช่มก็ตอบว่า “เพิ่งมาถึงเดี๋ยวนี้แหละลูก ยังไม่ได้ลูบเนื้อลูบตัวเลย”
ลูบเนื้อลูบตัว เป็นการทำความสะอาดร่างกายแต่ไม่ถึงกับอาบน้ำ ซึ่งแม้ว่าสตรีสมัยโบราณจะแต่งกายถูกกับสภาพอากาศแล้วก็ตาม คือนุ่งโจงกระเบนมีผ้าคาดอก แต่ก็ยังรู้สึกร้อนเป็นครั้งคราว จะอาบน้ำก็ไม่สะดวก เพราะไม่มีห้องน้ำมิดชิด ดังนั้นวิธีคลายร้อนที่ไม่ให้ตัวเหนียวเหนอะหนะก็คือ การลูบเนื้อลูบตัวนั่นเอง ถ้าเป็นชาวบ้านก็จะใช้มือวักน้ำจากภาชนะ เช่น ขัน ลูบไล้ใบหน้า และตามลำตัว โดยใส่ชุดเดิมไม่ต้องเข้าห้องน้ำ จากนั้นก็ประแป้งเม็ด หรือดินสอพอง แต่สำหรับชาววังจะพิถีพิถันกว่า เช่น ใช้น้ำลอยดอกไม้ ภาชนะก็ใช้ขันเงิน วิธีการลูบเนื้อลูบตัว อาจใช้ผ้าผืนเล็กชุบน้ำบิดพอหมาด เช็ดตามตัวที่อยู่นอกร่มผ้า เสร็จแล้วชโลมด้วยน้ำปรุง หรือน้ำอบ ทาทับด้วยแป้งหอม จะทำให้เนื้อตัวเย็นสบายขึ้น
เห็นไหมคะว่าคนโบราณมีวิธีคลายร้อนที่ชาญฉลาดมาก หากใครจะทำตามก็ไม่ว่ากันค่ะ
อ้างอิงจาก :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “สี่แผ่นดิน” กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม.
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.