พิธีกรไม่ยากอย่างที่คิด ( ตอนที่ 1 )

ในชีวิตการทำงานดิฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะได้ปฏิบัติหน้าที่พิธีกรบนเวทีในการประชุมวิชาการของสำนักหอสมุด เพราะในตำแหน่งหน้าที่ดิฉันเป็นแค่เจ้าหน้าที่ห้องสมุดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ได้รับเลือกจากผู้บริหารให้มาทำหน้าที่นี้ อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าดิฉันมีความสามารถ หรือไม่มีใครรับหน้าที่นี้กันหนอ เพราะดูจากความสามารถของบุคลากรของสำนักหอสมุดจะเห็นว่ามีหลายคนที่มีความสามารถที่จะทำได้เช่นกัน ส่วนมากจะคิดว่าการเป็นพิธีกรนั้นยาก ตนทำไม่ได้หรอกทั้งที่ยังไม่ได้ลองทำ หรือพอทำแล้วผิดพลาดก็ถอยซะแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน
ดิฉันจะเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันในการเป็นพิธีกรของดิฉัน นับตั้งแต่ ได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรงานประชุมวิชาการประจำปีของสำนักหอสมุด ในปี 2549 ถ้าจำไม่ผิดนะเพราะเป็นการจัดประชุมวิชาการครั้งแรกของสำนักหอสมุดเลยและดิฉันก็เป็นพิธีกรมาตลอดทุกๆ ปี ในปีแรกนั้นรู้สึกตื่นเต้นระคนกับความกลัวว่าจะทำไม่ได้ดี แต่ก็พยายามที่จะหาความรู้เพิ่มเติมว่าการเป็นพิธีกรนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง จึงได้หาหนังสือในห้องสมุดอ่านก่อนขั้นแรกได้หนังสือชื่อเรื่อง คู่มือสู่อาชีพพิธีกร / สนฉัตร พัวพิมล. เลขเรียกหนังสือ PN1590.พ6 ส32 และเรื่อง เทคนิคการเป็นพิธีกรที่ดี / มัลลิกา คณานุรักษ์. เลขเรียกหนังสือ PN1590.พ6 ม64 จึงได้รู้ว่าการเป็นพิธีกรนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยบุคลิกภาพความมั่นใจเป็นสำคัญ การพูดผิดพูดถูกเป็นเรื่องปกติที่จะผิดกันได้เมื่อผิดแล้วอย่าประหม่าให้ขออภัยแล้วดำเนินการต่อไป
การเริ่มต้นสำหรับการเตรียมตัวเป็นพิธีกร บุคลิกภาพเป็นสิ่งสำคัญ การเป็นพิธีกรที่ดีจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี เริ่มต้นด้วยบุคลิกภาพภายนอก คือรูปร่างหน้าตา ไม่สวยไม่เป็นไร แต่มีการแต่งหน้าทำผมให้ดูดี การแต่งกายเสื้อผ้ารองเท้าให้ดูสุภาพเรียบร้อยสง่างาม กระโปรงไม่สั้นเกินไป กางเกงไม่รัดรูป เสื้อควรเป็นเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อที่ทางผู้จัดจัดให้ใส่ และควรสวมเสื้อสูท การแต่งกายถือเป็นการให้เกียรติวิทยากรที่มาบรรยายและผู้เข้าร่วมประชุม ดิฉันเคยได้รับคำชมจากวิทยากรท่านหนึ่งว่าแต่งกายเหมาะสม และน้ำเสียงการพูดการเว้นวรรคประโยคดี ทำให้หัวใจพองโตไปทั้งวันและมีกำลังใจที่จะทำงานนี้ต่อๆไป บุคลิกภาพภายในคือ ต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง กระตือรือร้น ยิ้มแย้มแจ่มใส มีชีวิตชีวา มีรอยยิ้มที่แสดงความมีมนุษยสัมพันธ์ มีไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการควบคุมอารมณ์ตนเอง เป็นต้น

pen1
หน้าที่หลักของพิธีกรคือผู้ดำเนินรายการ แจ้งรายละเอียดของงาน เชิญเข้าสู่พิธี ดำเนินรายการต่าง ๆ แนะนำและขอบคุณวิทยากรที่มาบรรยาย เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องเป็นพิธีกร นอกจากเตรียมตัวเตรียมใจแล้วยังต้องศึกษาข้อมูลของการประชุมนั้นๆ วัตถุประสงค์ของงาน หัวข้อบรรยายอะไรบ้าง ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มไหนบ้างจำนวนเท่าไร เพื่อที่จะได้รู้แนวทางในการพูดเกริ่นนำ และหาข้อมูลประวัติวิทยากรจากฝ่ายวิชาการ หรือสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง รวมถึงข้อมูลสถานที่ที่จัดประชุมจะต้องไปดูสถานที่ก่อนวันงาน และที่สำคัญจะต้องนำข้อมูลที่ได้มาฝึกซ้อมในการพูดให้คล่องบางครั้งเรื่องของภาษาบางคำที่ไม่คุ้นเคยจะทำให้พูดติดขัดได้ เช่น ภาษาอังกฤษ คำควบกล่ำ และการออกเสียง ร(รอ เรือ) เป็นต้น การฝึกพูดหน้ากระจกเพื่อให้เห็นลักษณะท่าทางการพูดของตัวเองว่าเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง หรือถ้ามีเพื่อนฝึกกับเพื่อนให้ช่วยติชมให้ก็ได้
*****เมื่อถึงวันจะขึ้นสู่เวทีการทำหน้าที่พิธีกร จะขอมาเล่าในตอนต่อไปอย่าลืมติดตามนะคะ*****