ตัวห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นห้องสมุดที่ผู้ใช้ บอกล่าวกันว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งและเป็นห้องสมุดด้านกฎหมายที่ดีที่สุด มีทรัพยากรสารสนเทศให้บริการมากมายหลากหลายสาขาวิชาทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศนั้นมีทั้งหนังสือและวารสารกฎหมายที่เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเยอรมัน
การได้มาซึ่งทรัพยากรสารสนเทศที่ห้องสมุดนั้น มีหลายช่องทางดังนี้
๑. ร้านค้านำหนังสือมาเสนอขาย
๒. ห้องสมุดได้รับอภินันทนาการจากสำนักพิมพ์
๓. ห้องสมุดติดต่อขอรับบริจาค
๔. ห้องสมุดได้ข้อมูลการพิมพ์ใหม่ๆและสั่งซื้อ
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงการจัดซื้อ เพราะก่อนดำเนินการจัดซื้อต้องพิจารณาตรวจสอบหนังสือรวมทั้งโสตวัสดุต่างๆแต่ละชื่อเรื่อง อย่างละเอียด เพื่อไม่ให้มีการผิดพลาดในการจัดซื้อซ้ำกับที่ห้องสมุดมีอยู่ก่อน ซึ่งหนังสือแต่ละชื่อเรื่องนั้นความยากง่ายไม่เหมือนกัน
กรณีที่เป็นหนังสือเสนอขาย ถ้าเป็น ทางศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำตัวเล่มหนังสือมาเสนอให้ห้องสมุดเพื่อพิจารณาเลือกโดยตรง จะมีข้อดีคือ ห้องสมุดมีตัวเล่มอยู่ในมือ สามารถนำมาเปรียบเทียบและอ่านคำนำที่ตัวเล่มได้ การตรวจสอบจะทำได้ง่ายขึ้น การสั่งซื้อจึงมีข้อผิดพลาดในการซื้อซ้ำได้น้อยมาก
กรณีเป็นรายชื่อจากการค้นหาทางเว็บไซต์ หนังสือที่มีขายตามเว็บไซต์ต่างๆ จะบอกรายละเอียดข้อมูลของหนังสือแต่ละเล่มไม่ชัดเจน เช่น ไม่มีเลข ISBN, ปี พ.ศ… , การแก้ไขครั้งที่…, จำนวนเลขหน้า เป็นต้น การตรวจสอบจากเว็บไซต์จึงค่อนข้างจะละเอียดกว่าวิธีแรก กรณีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจนต้องให้ศูนย์หนังสือนำตัวเล่มมาเสนอเพื่อเลือกก่อนการสั่งซื้อ แต่ข้อดีคือห้องสมุดจะได้รายชื่อหนังสือที่จัดพิมพ์ครั้งล่าสุดเร็วกว่าทางร้านมาเสนอเพื่อเลือก
จากประสบการณ์ในการทำงานด้านการจัดหาหนังสือกฎหมายภาษาไทย พบว่ารายละเอียดของหนังสือแต่ละเล่มไม่เหมือนกัน จึงมีข้อสังเกตเพื่อการตรวจสอบความซ้ำ (เฉพาะหนังสือกฎหมาย) ดังนี้
๑. มีคำอธิบายการพิมพ์ชัดเจน เนื้อหาในหนังสือตรงตามที่อธิบาย
หนังสือประเภทนี้ ที่หน้าปกนอกและหน้าปกใน บอกรายละเอียดที่ชัดเจนว่า “พิมพ์ครั้งที่…แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่…” อ่านคำนำอธิบายประกอบชัดเจน แก้ไขหัวข้อไหนบ้าง เสร็จแล้วจึงนำมาตรวจสอบกับฐานข้อมูลของห้องสมุด แบบนี้จะตรวจสอบได้ง่ายที่สุด
๒. ใช้คำนำของปีเก่าแต่ลงปี พ.ศ. ที่พิมพ์
หน้าปกนอกและหน้าปกใน บอกรายละเอียดที่ชัดเจนว่า “พิมพ์ครั้งที่…แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่…” อ่านคำนำ บางเล่มนำคำนำของเก่ามาใส่ไว้เพียงแต่แก้ พ.ศ. ของคำนำนั้นให้เป็นปัจจุบัน ถ้าพบแบบนี้ ต้องตรวจดูจำนวนหน้าของหนังสือนั้นว่าต่างกันมากน้อยเท่าใด
๓. หน้าปกนอกบอกแก้ไข.. แต่หน้าปกในไม่บอกรายละเอียด
หน้าปกนอกพิมพ์ครั้งที่… ปี พ.ศ. ปัจจุบัน หน้าปกในไม่ได้บอกรายละเอียดว่าได้แก้ไข คำนำเป็นของปีพิมพ์ครั้งก่อนแต่เปลี่ยน ปี พ.ศ. ให้เป็นปัจจุบัน จำนวนหน้าเท่ากัน ส่วนมากเท่าที่พบ เป็นการพิมพ์ “reprint” ใหม่
๔. หน้าปกนอกบอกแก้ไข..แต่หน้าปกในบอกเฉพาะครั้งที่พิมพ์
หน้าปกนอกพิมพ์ครั้งที่….(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่) ปี พ.ศ. ปัจจุบัน หน้าปกในบอกเฉพาะพิมพ์ครั้งที่เหมือนกับหน้าปกนอก (แต่ไม่บอกว่าแก้ไขเพิ่มเติม) คำนำเป็นของปีพิมพ์ครั้งก่อนแต่เปลี่ยน ปี พ.ศ. ให้เป็นปัจจุบัน จำนวนหน้าเท่ากัน พบว่า มักจะเป็นการพิมพ์ reprint ใหม่ (เป็นเรื่องธุรกิจการขายที่ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าแก้ไขใหม่)
๕. หน้าปกนอกหน้าปกในไม่ได้บอกว่าแก้ไข..บอกแต่ครั้งที่พิมพ์
หน้าปกนอกและหน้าปกในพิมพ์เฉพาะ “พิมพ์ครั้งที่…” แต่ไม่ได้บอกแก้ไขเพิ่มเติม คำนำบางเล่มจะอธิบายชัดเจนว่าแก้ไขตรงส่วนไหนบ้าง จำนวนหน้าที่ต่างกัน เมื่อตรวจสอบมักจะเป็น “new ed”
๖. หน้าปกนอกหน้าปกในบอกแต่ครั้งที่พิมพ์ ไม่บอกว่า แก้ไขเพิ่มเติมใหม่
หน้าปกนอกและหน้าปกในพิมพ์เฉพาะ “พิมพ์ครั้งที่…” แต่ไม่ได้บอกแก้ไขเพิ่มเติม คำนำอธิบายไม่ชัดเจน จำนวนหน้าเท่ากัน ต้องนำตัวเล่ม ปี พ.ศ.เก่า มาเทียบเล่มกับ ปี พ.ศ.ใหม่ หน้าต่อหน้า เพื่อหาส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติม
๗. หนังสือชื่อเดิมแต่ เปลี่ยนสำนักพิมพ์
หนังสือที่พิมพ์ใหม่ต่างสำนักพิมพ์กัน เป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๑ ของสำนักพิมพ์ใหม่ หรือในคำนำบางครั้งจะแจ้งว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่.. เมื่อตรวจสอบมีอยู่ในฐานข้อมูลฯแล้วต้องเทียบตัวเล่มกับของเดิมที่มีอยู่ว่าเป็นการนำ “reprint” ใหม่ หรือเป็น “new ed”
๘. หนังสือไม่ระบุปีพิมพ์
หนังสือบางเล่มไม่มีหมายเลข ISBN และไม่มีปี พ.ศ. หรือมีแต่เลข ISBN ไม่มีปี พ.ศ. (ส่วนมากจะเป็นหนังสือที่ผู้เขียนพิมพ์เองและนำมาฝากขาย) จะเป็นหนังสือที่เน้นไปทางผู้ที่เรียนเนติฯ หรือเตรียมสอบผู้ช่วยฯ
นี้เป็นตัวอย่างของการตรวจสอบในแบบที่ห้องสมุดมีตัวเล่มอยู่ในมือ บางเล่มต้องใช้เวลาตรวจสอบนานหลายชั่วโมงกว่าจะพบว่าเป็นฉบับพิมพ์ซ้ำจริงๆ หรือเป็นฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจริงๆ
หนังสือใหม่ปี ๒๕๕๘