สมัยก่อนหนังสือรูปเล่มหน้าปกมีภาพประกอบที่สวยงาม ชวนสนใจน่าอ่าน เมื่อใช้บ่อยครั้งก็ชำรุด ฉีกขาดต้องนำมาซ่อมใส่ปกแข็งเพื่อให้คงทน และเขียนชื่อเรื่องที่หน้าปกใหม่โดยใช้ปากกาคอแร้ง ต่อมาก็เป็นปากกาไฟฟ้า ประมาณปีพ.ศ.2524 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีเครื่องเรียงพิมพ์ไฟฟ้า สำหรับพิมพ์ชื่อเรื่องบนหน้าปกหนังสือ ซึ่งใช้ประจำที่ห้องซ่อม ได้พัฒนาเป็นเครื่องพิมพ์อักษรไฟฟ้า
กล่าวถึงอุปกรณ์เครื่องพิมพ์อักษรไฟฟ้าประกอบด้วย
1. ตู้เก็บอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตามขนาดแบ่งเป็นตามช่องใส่ตัวอักษร
2. ตัวอักษรทำด้วยตะกั่วตามขนาดที่ต้องการ
3. บล็อกสำหรับเรียงตัวอักษร
4. เครื่องปั้มแบบใช้มือโยก
5. เทปกระดาษพิมพ์สีขาว สีทอง แต่ทางหอสมุดใช้สีขาวส่วนใหญ่
6. คีมปากแหลมสำหรับคีบตัวอักษร
วิธีการเรียงพิมพ์เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำตัวอักษรตะกั่วมาเรียงต่อกันตามชื่อเรื่องของหนังสือที่จะพิมพ์ โดยทำการกลับด้าน(อ่านกลับหัว) แล้วยึดติดกับบล็อกสอดใส่เข้ากับเครื่องปั้มแบบใช้มือโยก เปิดไฟให้ความร้อนผ่านตัวอักษรใช้ไฟประมาณ250โวล์ด ใช้กระดาษเทปพาดบนตัวเล่มโดยกะระยะให้พอเหมาะสมแล้วโยกเครื่องปั้มลง ก็จะได้ชื่อเรื่องบนปกหนังสือที่ต้องการ
การพิมพ์ด้วยเครื่องไฟฟ้านี้เหมาะสำหรับพิมพ์ชื่อเรื่องหน้าปกหลายเล่ม ทำให้ดูเรียบร้อยแต่ไม่เหมาะสำหรับเล่มเดียว เพราะเสียเวลาในการเรียงตัวอักษรมาก ปัจจุบันได้เลิกการพิมพ์ปกด้วยระบบนี้แล้ว