เล่มหนึ่งก็ซึ้งใจ

การขอหนังสือบริจาคเป็นงานอีกส่วนหนึ่งของห้องสมุดโดยทั่วไป ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการจัดหาหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ เข้ามาในห้องสมุด นอกจากการจัดซื้อ

หนังสือที่ขอรับบริจาคเป็นหนังสือที่มีลักษณะเฉพาะ ไมมีการซื้อ-ขาย และมีคุณค่าในตัวเอง สำหรับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในส่วนที่ทำการขอรับบริจาค แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. สิ่งพิมพ์ ของกระทรวงทั้งหมด 20 กระทรวง รวมถึง มูลนิธิ สมาคม องค์กรเอกชน ต่าง ๆ สิ่งพิมพ์ที่ทำการขอได้แก่ สิ่งพิมพ์รัฐบาล งานวิจัย
2. ที่ระลึกครบรอบปีของหน่วยงาน และสิ่งพิมพ์ในวาระพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือที่ระลึกในอนุสรณ์งานศพ หนังสือที่ระลึกส่วนบุคคล เช่น ครบรอบ 80 ปี 100 ปี ของบุคคลที่มีคณูปการแก่ประเทศชาติ เช่น 100 ปี ดร. ถนัด คอมันตร์ ในชื่อที่ว่า ”แต่พ่อที่รักของลูก” และหนังสือวาระพิเศษของหน่วยงาน เช่น เพาะช่าง 100 ปี

ทักษะต่าง ๆ ทีใช้ในการขอรับบริจาคหนังสือ

  • รอบรู้เกี่ยวกับหน่วยงาน ประวัติหน่วยงาน ความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงผลงาน ผู้บริหาร บุคลากรในหน่วยงาน
  • รอบรู้เกี่ยวกับบุคคล ประวัติบุคคล ประวัติตระกูล ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูล
  • รอบรู้ด้านประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก การเมือง การปกครอง เศรษฐศาสตร์ ทั้งไทย และต่างประเทศ
  • รอบรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ วรรรณกรรม
  • ติดตามข่าวสาร ด้านต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศซึ่งทักษะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการสะสมจากประสบการณ์ในการอ่าน ฟัง และสอบถามจากผู้รู้ในสาขาต่างๆ

วิธีการดำเนินการขอสิ่งพิมพ์

สำหรับหน่วยงานและหนังสือที่ระลึกในอนุสรณ์งานศพ

ใช้วิธีการขอเบื้องต้นทางโทรศัพท์ หรือ E-mail และท้ายสุดทำการขอโดยจดหมายราชการ เหตุที่ทำการขอเบื้องต้นนั้น เพื่อให้ผู้ที่ได้รับได้จดหมายราชการนั้น ๆ รับทราบและดำเนินการต่อ เมื่อได้รับเล่มหนังสือตามที่ขอ นำเล่มตรวจสอบในฐานข้อมูลของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้บริการอย่างรวดเร็วและทันสมัยทั้งในแง่วิชาการและประวัติบุคคล
การขอรับบริจาคหนังสือเป็นการติดต่อ สื่อสารโดยไม่หน้าพบกัน เป็นการการเจรจาต่อรองโดยไม่มีสิ่งเทียบเคียง หรือหลักเกณฑ์ใด ๆ แต่ได้รับการอนุเคราะห์ในการขอรับบริจาคสิ่งพิมพ์อย่างดี ณ ที่นี้ขอขอบคุณหน่วยงาน ต่าง ๆ และบุคคล ที่ให้ความกรุณาฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอย่างดียิ่ง