เมื่อวันที่ 21-23 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ “IET Publishing – Inspec database training session and visits to HK academic libraries” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อให้บรรณารักษ์จากห้องสมุดที่บอกรับฐานข้อมูล ได้ไปฝึกอบรมฐานข้อมูล Inspec Direct ที่สำนักงาน IET เขตปกครองพิเศษฮ่องกง พร้อมกันนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ฐานข้อมูลออนไลน์รวมถึงการทำงานของห้องสมุด 2 แห่ง คือ Hong Kong Polytechnic university library และ Hong Kong University of Science & Technology library ซึ่งหลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว รูปแบบและนโยบายการดำเนินงานบางอย่างก็เหมือนกับของสำนักหอสมุด มธ. แต่บางอย่างก็แตกต่างออกไป จึงอยากจะนำมาแบ่งปันต่อให้กับชาวสำนักฯ ดังนี้ค่ะ
ด้านการพัฒนาทรัพยากร
นโยบายการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่ HKUST จะจัดหาเพียง 1 ฉบับต่อหนึ่งชื่อเรื่อง กรณีรายวิชาที่มีผู้ลงทะเบียน 40 คนขึ้นไป จะเพิ่มเป็น 2 ฉบับ และสามารถจัดหาได้สูงสุด 6 ฉบับต่อ 1 ชื่อเรื่อง กรณีชั้นเรียนมีขนาดใหญ่ถึง 500 คน ส่วน Hong Kong Polytechnic มีแนวโน้มที่จะบอกรับในรูปแบบ e-Books เนื่องจากการใช้งานที่สะดวก สามารถเข้าถึงได้หลายคนพร้อมกัน รวมทั้งแก้ปัญหาชั้นเก็บหนังสือไม่เพียงพอด้วย
ส่วนการบอกรับวารสารและฐานข้อมูลออนไลน์ ค่อนข้างจะเป็นปัญหากับห้องสมุดทั้งสองแห่ง เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับมีจำนวนจำกัด และไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากแต่ละคณะที่เปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย หากคณะต้องการให้บอกรับวารสารชื่อใหม่ๆ ห้องสมุดก็จำเป็นต้องยกเลิกชื่อเก่าไป
ด้านสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย
Hong Kong Polytechnic มีส่วนงาน Research Support ด้วย ซึ่ง เป็นส่วนงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เริ่มดำเนินการได้ประมาณ 6 เดือน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาฐานข้อมูลนักวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยการจัดเก็บข้อมูล Scopus ID, ORCID ID และ Researcher ID เข้าไว้ในระบบ
ส่วนที่ HKUST ทุกๆ การเปิดภาคการศึกษาใหม่ จะมีการจัด Event แนะนำฐานข้อมูลออนไลน์ โดยเชิญตัวแทนจากแต่ละบริษัทมาแนะนำฐานข้อมูลให้กับนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรได้ทราบ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมร่วมตอบคำถามชิงรางวัล (ตัวแทนเป็นผู้สนับสนุนรางวัล เช่น iPad ) วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมนี้คือ ต้องการให้ผู้ใช้ได้รู้จักกับฐานข้อมูลที่ห้องสมุดบอกรับว่ามีอะไรบ้าง เนื้อหาครอบคลุมสาขาวิชาใด อย่างน้อยๆ เมื่อเวลาที่นักศึกษาต้องการค้นข้อมูล จะได้นึกถึงและสืบค้นจากฐานข้อมูลเหล่านี้แทนที่จะไปหาจากแหล่งอินเทอร์เน็ตทั่วๆ ไป
ด้านการเข้าถึงทรัพยากรนอกเครือข่าย
HKUST ใช้ EZProxy ในการเข้าถึงข้อมูลจากนอกเครือข่าย ส่วน Hong Kong Polytechnic ใช้ VPN
ด้าน Learning spaces
ทั้งสองห้องสมุดเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้อ่านหนังสือกันตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นการเปิดเฉพาะโซน ไม่ได้เป็นการเปิดพื้นที่ทั้งหมดของห้องสมุด นักศึกษาจะต้องใช้บัตรห้องสมุด (บัตรนักศึกษา) ในการเข้า-ออก ส่วนการดูแลความเรียบร้อยจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย