มหัศจรรย์นิทานก่อนนอน…

st1

รู้ไหม… ที่จริงเด็กอยากฟังนิทานมากกว่าดูโทรทัศน์
รู้ไหม… นิทานก่อนนอนทำให้เด็ก “หลับสนิท”
รู้ไหม… เด็กช่วง 3-4 ขวบเป็นช่วงที่กระหายอยากฟังนิทานก่อนนอนจากพ่อแม่มากที่สุด
รู้ไหม… ถ้าได้คุยกันหลังฟังนิทานด้วย เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาเร็วขึ้นถึง 6 เท่า

การเล่านิทานให้ลูกฟัง เป็นการเล่าเรื่องหรือถ่ายทอดเรื่องราวของนิทานที่พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่เล่าให้เด็กฟัง อาจจะเป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา เรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กมีความสนุกสนาน เพลิดเพลินและผ่อนคลายอารมณ์ เนื้อหาในนิทานก็อาจสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงามที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของเด็ก อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านภาษาของเด็กได้อีกด้วย

เด็กมักจะรบเร้า เรียกร้องให้ผู้ใหญ่เล่านิทานให้ฟังทุกวัน แม้ว่านิทานเรื่องนั้นเด็กจะเคยฟังมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม เด็กบางคนอาจต้องการออกมาเล่านิทานให้เพื่อนๆฟัง หรือเด็กบางคนอาจต้องการแสดงบทบาทของตัวละครในนิทาน พฤติกรรมต่างๆเหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะและธรรมชาติของเด็กทุกคนที่ชอบฟังนิทาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กในระดับใด การเล่านิทานยังช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะการฟัง การพูด การกล้าแสดงออก การคิดและจินตนาการที่กว้างไกล รวมถึงการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับเด็กจากการฟังนิทานที่มีเนื้อหาสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงามจากการเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในนิทานที่เด็กได้ฟัง เด็กจะมีความเชื่อ ศรัทธา และพร้อมที่จะปฏิบัติตนตามบทบาทของตัวละครนั้นๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กปฐมวัยที่มักจะมีการเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆจากการเลียนแบบบุคคลที่เด็กรัก ศรัทธาและเชื่อถือ

การที่พ่อแม่สร้างความใกล้ชิดกับเด็กโดยการเล่านิทานจะช่วยให้เข้าใจเด็กมากขึ้น ช่วยให้เด็กเกิดความสนุกสนาน มีความรู้สึกอบอุ่นและใกล้ชิดผู้เล่า นอกจากนี้เด็กยังต้องการประโยชน์ในด้านของการสร้างสรรค์จินตนาการ ความคิด ความเข้าใจ ความฝันและการรับรู้ด้วย ตัวละครแต่ละตัวในนิทานจะสร้างจินตนาการในสมองเด็ก การเล่านิทานจึงเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นสำหรับเด็กในการสร้างเสริมเด็กได้ในทุกเรื่องรวมถึงการสร้างนิสัยรักการอ่าน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการตามวัยทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาให้เกิดกับเด็กได้อีกด้วย

stาพจาก http://www.nitan108.com/

การเลือกนิทานที่จะใช้เล่าก็ต้องเลือกให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและวุฒิภาวะของลูก

เด็กช่วงอายุ 2 – 4 ปี นิทานที่เหมาะสมในวัยนี้ ควรเป็นหนังสือภาพที่เป็นภาพเหมือนรูป สัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวัน และเขียนเหมือนภาพของจริง มีสีสวยงาม ขนาดใหญ่ชัดเจน เป็นภาพเดี่ยวๆ ที่มีชีวิตชีวา ไม่ควรมีภาพหลัง หรือส่วนประกอบภาพที่รกรุงรัง รูปเล่มอาจทำด้วยผ้าหรือพลาสติก หนานุ่มให้เด็กหยิบเล่นได้

เด็กช่วงอายุ 5 – 7 ปี การเลือกหนังสือนิทานที่เหมาะเด็กวัยนี้ ควรเป็นหนังสือนิทาน หรือหนังสือภาพที่เด็กสนใจเพราะเด็กในวัยนี้จะเริ่มชอบต่างกัน แล้วแต่สภาพแวดล้อมที่ถูกเลี้ยงดู หนังสือที่เหมาะสม ควรเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ นิทานเรื่องเล่าที่ให้ข้อคิด มีหน้าหรือเนื้อหาที่ไม่ยาวมากประมาณ 8-10 หน้า หากเด็กมีประสบการณ์ที่ดีในช่วงเวลานี้ จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ของเด็กในอนาคต

เด็กช่วงอายุ 8 – 10 ปี เด็กวัยนี้เริ่มเข้าใจความแตกต่าง ระหว่างความจริงกับเรื่องสมมุติ นิทานที่เหมาะสมควรเป็น นิทานที่เป็นเรื่องที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย ส่งเสริมจินตนาการ และอิงความจริงอยู่บ้าง เนื้อเรื่องสนุกสนาน น่าติดตาม มีภาพประกอบที่มีสีสันสดใสสวยงาม มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องมีเนื้อหา เยอะพอสมควร เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน เช่น นิทานชาดกที่ให้ข้อคิดพร้อมคติธรรม เพื่อให้เด็กนำไปใช้ในการดำรงชีวิต

ระยะเวลาในการเล่านิทานที่เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงวัย เช่น เด็กอายุ 3 ปี การเล่านิทานไม่ควรเกิน 8 นาที เด็กอายุ 4 ปี ประมาณ 12 นาที หรือเด็กอายุ 5 ปี ประมาณ 15 นาที เป็นต้น

รายการอ้างอิง:

ทำไมต้องเล่านิทานให้ลูกฟัง สืบค้นเมื่อวันที่  27 มีนาคม 2558 จาก http://www.nitan108.com/

มหัศจรรย์นิทานก่อนนอน… สืบค้นเมื่อวันที่  27 มีนาคม 2558 จาก http://www.momypedia.com/ webboard/9-1049168/มหัศจรรย์นิทานก่อนนอน/

นิติธร ปิลวาสน์. เล่านิทาน (Story telling) สืบค้นเมื่อวันที่  27 มีนาคม 2558   จาก http://taamkru.com/th/เล่านิทาน