เรือห้องสมุดของไทย

เรือห้องสมุดหรือห้องสมุดลอยน้ำเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ (Mobile library) ที่ให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งสารสนเทศได้มากขึ้น ส่งเสริมการอ่าน และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เรือห้องสมุดของไทยเคยมีให้บริการ ในปี พ.ศ. 2553 โดยใช้ชื่อว่า “โครงการเรือห้องสมุดสัญจร” ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเรือให้บริการ 2 ลำ คือ เรือนางนพมาศ และ เรือมหาราช

เรือนางนพมาศ มีประวัติที่ยาวนาน ในอดีตเสนาบดีของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้เป็นเรือในการตรวจราชการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2479-2535 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ฟื้นฟูให้เป็นเรือในโครงการการศึกษาประชาชน ด้านห้องสมุดเคลื่อนที่มีหน่วยโสตทัศนศึกษาและกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนอีกครั้ง และให้บริการประชาชนริมลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท

เรือมหาราช เดิมเป็นเรือของบริษัท ขนส่ง จำกัด จัดสร้างให้เป็นเรือโดยสาร ในปี พ.ศ. 2491 จากนั้นในปี พ.ศ. 2542 บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้มอบเรือมหาราชให้แก่กรมการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อจัดทำเป็น เรือห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เพื่อถวายเป็นราชสักการะโดยพิธีส่งมอบจัดขึ้น ณ อู่กัปตัน เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ฟื้นฟูซ่อมแซมเรือห้องสมุดทั้ง 2 ลำ ให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งในการซ่อมแซมครั้งนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1 ล้านบาท เพื่อทำเป็นเรือห้องสมุดสัญจร โดยภายในเรือมหาราชจัดให้มีสื่อการเรียนการสอนไว้บริการ ได้แก่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เครื่องเล่นวีดีโอ และมีหนังสือถึง 4,000 เล่ม ได้แก่ หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน หนังสือการประกอบอาหาร นวนิยาย การ์ตูน รวมทั้งมีอุปกรณ์ของเล่นเด็ก ซึ่งจัดเป็นมุมเด็กไว้บริการอีกด้วย ส่วนเรือนางนพมาศเป็นเรือขนาดเล็กกว่าเรือมหาราช นอกจากสื่อการเรียนการสอนแล้ว จะมีหนังสือน้อยกว่าเรือมหาราชจำนวน 2,000 เล่ม เท่านั้น

ผลที่ได้รับจากโครงการเรือห้องสมุดสัญจร เพิ่มขอบเขตการให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำได้อย่างทั่วถึง ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านมากยิ่งขึ้น รวมทั้งใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และได้เรียนรู้วิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ไทย และมีความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ แต่น่าเสียดาย ที่ปัจจุบันเรือห้องสมุดทั้ง 2 ลำ ได้หยุดดำเนินการ เนื่องจากปิดโครงการเรือห้องสมุดสัญจรไปแล้ว ต้องรอให้โครงการนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง พวกเราจึงจะเห็นเรือห้องสมุดทั้ง 2 ลำ กลับมาให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำอีกครั้ง

เรือห้องสมุด

รายการอ้างอิง
บริษัทขนส่ง จำกัด.”เรือมหาราช” เรือลำสุดท้ายในกิจการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยอดีตของ บขส. 2542. สืบค้นจาก http://home.transport.co.th/th/about-tcl/corporate-information-service/maharat-bkl.html เมื่อ 18 มีนาคม 2558.
หนังสือพิมพ์ข่าวสด. เรือห้องสมุด ความรู้ลอยน้ำ. วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2553.