เหลืองปรีดียาธร : ดอกไม้แสนงาม นามก็เพราะ

pridi1

เข้าเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ของปีเมื่อไร ดอกไม้สีเหลืองสดใสนาม เหลืองปรีดียาธร ก็จะออกดอกสะพรั่ง พบเห็นได้ทั่วไป และสองข้างทางของถนนหลายสาย

ชื่อพื้นเมือง: ตาเบบูยาเหลือง ดาบเหลือง เหลืองหลวง
ชื่อสามัญ : Silver trumpet tree, Tree of gold, Paraguayan silver trumpet tree …
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tabebuia argentea Britt
วงศ์: BIGNONIACEAE
ถิ่นกำเนิด: อเมริกากลางและหมู่เกาะอินดีสตะวันตก
ประเภท: ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 8 เมตร เรือนยอดรูปไข่ เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องขรุขระ ลักษณะเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งก้านเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านเป็นชั้น โตช้า เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี ชอบแดดจัด
ใบ: เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือด้วยใบย่อย 5 ใบ เรียงตัวแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปรี ขอบใบเรียบ 
ดอก: มีสีเหลืองสด มีช่อดอกแบบช่อกระจุกช่อละ 3-10 ดอก ลักษณะกลีบดอกติดกัน 5 กลีบเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง สีเหลือง ปลายกลีบแยกเป็นแฉก ก้านดอกเป็นหลอด เมื่อดอกร่วงจะติดฝักและมีเมล็ด ขั้วดอกเหนียวและดอกจะร่วงยากกว่าเหลืองอินเดีย ดอกออกมากแต่ยังมีใบคงอยู่บนต้นมากไม่ร่วงหมดต้น ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
ผล: เป็นฝัก ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร สีเทา มีเส้นสีดำ
การขยายพันธุ์: ด้วยการเพาะเมล็ด และการตอน แต่การตอนจะโตได้เร็วกว่า
การดูแล: ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ต้นไม้ตระกูลนี้ไม่ชอบน้ำมา

เหลืองปรีดิยาธร ที่มาของชื่อ

pridi

“คุณชายอุ๋ย”เผยที่มา “เหลืองปรีดิยาธร” ดอกไม้แห่งฤดูร้อน ในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อนแบบนี้ อาจได้เห็นดอกไม้หลายชนิดเบ่งบานให้สีสันสวยงามและหนึ่งในนั้นคือต้น “เหลืองปรีดิยาธร” และด้วยชื่อที่มาตรงกับ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ทำให้บรรดาผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเองก็สงสัยว่าต้นไม้สีเหลืองสวยงามที่ชูช่ออยู่ขณะนี้มีความเกี่ยวข้องกับท่านรองนายกรัฐมนตรีหรือไม่อย่างไร เมื่อเจอตัวจริงจึงได้ถามถึงที่มาที่ไป ซึ่งก็พบว่าต้นไม้ชนิดนี้เกี่ยวพันกับท่านฯ จริง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เล่าถึงที่มาที่ไปว่าชื่อนี้มีมาได้ 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะประกาศลดค่าเงินบาท เริ่มจากที่คุณวิชัย อภัยสุวรรณ เจ้าของคอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้นำต้นไม้พันธุ์ ตาเบบูย่า เข้ามาจากประเทศเม็กซิโก โดยนำเข้ามาพร้อมกัน 5 สายพันธุ์ และต้องการนำแต่ละพันธุ์ไปจดทะเบียนกับ กรมป่าไม้ เป็นชื่อภาษาไทย ซึ่งแต่ละต้นก็ได้ชื่อไปตามชื่อของหม่อมราชวงศ์ท่านต่างๆ โดยสีชมพู ชื่อชมพูพันธุ์ทิพย์ ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร สีเหลืองอีก 3 พันธุ์ได้แก่ เหลืองคึกฤทธิ์ เหลืองถนัดสี และเหลืองถวัลภากร ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และ ม.ร.ว.ถวัลภากร วรวรรณ
“ส่วนต้นนี้ (เหลืองปรีดิยาธร) ลักษณะต้นมันสูง และดอกมันเยอะแกก็ว่ามันเหมือนดอกเบี้ย คุณวิชัยเลยนึกถึงผมเพราะตอนนั้นผมอยู่แบงก์กสิกรไทย แกโทรมาหาผมที่แบงก์บอกว่าขอยืมชื่อผมไปจดเป็นชื่อที่กรมป่าไม้ ผมก็บอกว่าด้วยความเต็มใจ รู้สึกเป็นเกียรติเลยสิ เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักด้วย ผมก็ยิ่งชอบใหญ่เลย”ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ถนนสายดอกไม้ @ สุพรรณบุรี

pridi5

บนถนนสายสระกระโจม-ด่านช้าง หรือทางไปอุทยานแห่งชาติพุเตย (ทางหลวงหมายเลข 3502) (อ.สามชุก- อ.ด่านช้าง) จ.สุพรรณบุรี ทางไปตลาดร้อยปีสามชุก หรือบึงฉวาก ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. จะกลายเป็นถนนสีเหลืองสว่างสดใส ที่ผลิดอกบานสะพรั่งรับฤดูร้อน จากสีของดอกเหลืองปรีดิยาธร หรือตาเบบูญ่าเหลือง ที่ปลูกอยู่ริมสองข้างถนนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ขับรถไปด้วยชมบรรยากาศอันสวยงามไปด้วยความเพลิดเพลิน โดยเมื่อดอกไม้บานก็จะมีให้ชมราว 2 สัปดาห์

สอบถามเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี (รับผิดชอบพื้นที่ สุพรรณบุรี,ชัยนาท,อ่างทอง) โทร. 035-525863, 035-525867 และ 035-525880

ที่มา :
ฟังหม่อมอุ๋ยเล่าที่มา “เหลืองปรีดิยาธร”   สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2558 จาก http://www.posttoday.com/สังคม/สังคมทั่วไป/355063/ฟังหม่อมอุ๋ยเล่าที่มา-เหลืองปรีดิยาธร

เหลืองปรีดิยาธร   สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2558 จาก http://th.wikipedia.org/wiki/เหลืองปรีดียาธร

เหลืองปรีดิยาธร สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2558 จาก http://suanluangrama9.or.th/2012/04/เหลืองปรีดียาธร/