ค่าเป้าหมายและรายละเอียดตัวบ่งชี้คุณภาพที่สำนักหอสมุดกำหนดเองตามภารกิจหลักและสนับสนุนนโยบายของมหาวิทยาลัย ตัวบ่งชี้ สห.3 คือ
สห. 3 การปรับปรุงคำค้นสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตามสาขาวิชา
วัตถุประสงค์ คือ ผู้รับบริการสามารถสืบค้นสารสนเทศตามสาขาวิชา/คณะที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตรงกับความต้องการ และรวดเร็วยิ่งขึ้น
เป้าหมาย : มีชุดคำค้นสารสนเทศตามสาขาวิชา/คณะ/หน่วยงานที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ จำนวน 9 สาขาวิชา
คำอธิบายตัวบ่งชี้ :
ปัจจุบันสำนักหอสมุดได้ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศ ได้แก่ หนังสือ ตำรา วิทยานิพนธ์ วิจัย วารสาร ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากกว่า 1 ล้านรายการ ทรัพยากรสารสนเทศเหล่านี้ครอบคลุมเนื้อหาวิชาทั้งในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยการกำหนดเลขหมู่ (call no.) และคำค้นที่เป็นหัวเรื่อง (Subject heading)
สารสนเทศในฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศของสำนักหอสมุด (TUCAT) จำนวนมากกว่า 1 ล้านรายการนั้นต้องมีการจัดทำคำค้นเพื่อทำให้ผู้รับบริการสามารถสืบค้นสารสนเทศจำนวนมากเหล่านั้นได้สะดวก ตรงตามความต้องการ แต่การกำหนดคำค้นที่เป็นการกำหนดหัวเรื่องในปัจจุบันไม่มีการจำแนกทรัพยากรสารสนเทศตามสาขาวิชาหรือคณะ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า สำนักหอสมุดไม่มีการกำหนดคำค้นสำหรับสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนในคณะ/สำนัก/สถาบัน ทำให้ผู้รับบริการไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศตามคณะหรือสาขาวิชาได้โดยตรง
นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2556 ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารีในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอให้สำนักหอสมุดปรับปรุงช่องทางการเข้าถึงสารสนเทศโดยจัดทำคำค้นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนทั้งหมดที่มีในห้องสมุด สำนักหอสมุดได้กำหนดคำค้นว่า “จีนศึกษา” ให้แก่หนังสือ บทความ ฯลฯ ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องราวของประเทศจีนตามคำร้องขอดังกล่าว ผลปรากฏว่าผู้รับบริการสามารถสืบค้นข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับจีนศึกษาทั้งหมดที่มีในห้องสมุดได้อย่างรวดเร็ว สามารถระบุรายการและจำนวนทรัพยากรสารสนเทศได้ตรงต่อความต้องการ สามารถนำสารสนเทศที่ได้จากการสืบค้นไปใช้ประโยชน์ในการเรียน การสอนที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน (Chinese Studies) สะดวกขึ้น
จากแนวคิดข้างต้น สำนักหอสมุดจึงพัฒนาแนวทางการกำหนดคำค้นเพิ่มเติม โดยขอให้ห้องสมุดสาขาในสังกัดทั้ง 9 แห่ง แบ่งความรับผิดชอบในการศึกษาหลักสูตรและสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนในแต่ละคณะที่ห้องสมุดให้บริการ โดยเบื้องต้นห้องสมุดสาขา 1 แห่งจะจัดทำคำค้นตามสาขาวิชาอย่างน้อย 1 ชุด เมื่อกำหนดคำค้นตามสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วจะนำคำค้นนั้นไปเพิ่มเติมในระเบียนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้น ๆ เพื่อความสะดวกของการสืบค้นสารสนเทศตามสาขาวิชา คณะ ทำให้มหาวิทยาลัยมีข้อมูลสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะ มคอ. 3 รายละเอียดของรายวิชา หมวด 6 ที่จำเป็นต้องระบุทรัพยากรประกอบการเรียนการสอนตามสาขาวิชา
คำค้นสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตามสาขาวิชา หมายถึง ชุดของคำหรือวลีที่ใช้ค้นหารายการหนังสือ ตำรา วิทยานิพนธ์ วิจัย วารสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อโสตทัศนวัสดุ ที่มีในสำนักหอสมุด ได้ตามสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนในคณะ/สำนัก / สถาบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศสำนักหอสมุด (TUCAT) หมายถึง ฐานข้อมูลรายการหนังสือ ตำรา วิทยานิพนธ์ วิจัย วารสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อโสตทัศนวัสดุ ที่มีในสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์