When do you cite? เมื่อไหร่ที่จะต้องอ้างอิง

cite

หลายคนที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ นอกจากจะต้องเหนื่อยกับการค้นคว้าข้อมูลที่มากมายแล้ว ยังต้องปวดหัวอีกว่าข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องใส่อ้างอิง (Citation) วันนี้ผมมีคำแนะนำ 5 ข้อ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์พิจารณามาฝากกันครับ

1. การคัดลอกคำต่อคำ (Verbatim) ไม่ว่าจะเพียงข้อความเดียวหรือทั้งย่อหน้าก็ตาม ต้องใส่อัญประกาศ (quotation marks) หรือวงเล็บ พร้อมกับระบุแหล่งที่มา เช่น ชื่อผู้เขียน ปีพิมพ์ และเลขหน้า เป็นต้น

2. การถอดความ (Paraphrase) เป็นการเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยคงเนื้อหาเหมือนต้นฉบับ ต้องอ้างอิงโดยใส่เชิงอรรถ (Footnote) หรือใส่วงเล็บ และต้องระบุแหล่งที่มาของเนื้อหา

3. การสรุป (Summary) เป็นการย่อเนื้อหาจากต้นฉบับเดิม ยังคงต้องอ้างอิงโดยใส่เชิงอรรถ หรือใส่วงเล็บ พร้อมกับระบุแล่งที่มาของเนื้อหา

4. ข้อเท็จจริง สารสนเทศ และข้อมูลต่างๆ (Facts, Information, Data) ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตามต้องอ้างอิงเสมอ เว้นแต่เป็นความรู้ทั่วไป หรือความรู้ที่เป็นสาธารณสมบัติ

5. สารสนเทศที่เป็นส่วนเสริม (Supplementary Information) เพื่อเสริมเนื้อหาหลักให้มีความสมบูรณ์ ต้องใส่แหล่งอ้างอิง อาจเป็นเชิงอรรถ หรือข้อความท้ายหน้า (Endnote)

ทั้งนี้เมื่อใส่อ้างอิง (Citation) แล้วอย่าลืมส่วนของรายการบรรณานุกรม (Bibliography) ที่จะต้องมีความสัมพันธ์กันด้วยนะครับ สุดท้าย “เมื่อใดสงสัยไม่แน่ใจ ก็ให้อ้างอิงไว้ก่อน (When in doubt, cite)”

ที่มา: กัญจนา บุณยเกียรติ. (2556). การลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรม (plagiarism). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: http://koha.library.tu.ac.th/cgi-bin/koha/opac-detail.pl?biblionumber=623363
Cr. รูปภาพ http://mohave.libguides.com/c.php?g=3479&p=657724