พัฒนาหอสมุด มธ.สู่มาตรฐาน ISO 9001:2015

กฤษณ์ ปัทมะโรจน์
กฤษณ์ ปัทมะโรจน์

ทำความรู้จักอาจารย์ กฤษณ์ ปัทมะโรจน์  รองผู้อำนวยการสายบริการและส่งเสริมการเรียนรู้ หอสมุดแห่ง มธ. คนใหม่ กับการพัฒนาหอสมุด มธ.สู่มาตรฐาน ISO 9001:2015

รู้สึกอย่างไรกับการทำงานในหอสมุดฯ
หลังจากที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานห้องสมุดในตำแหน่งรองผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สายบริการและส่งเสริมการเรียนรู้ มีโอกาสได้สัมผัสบุคลากรหอสมุดฯ หลายท่าน แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้มีโอกาสพูดคุย ผมจึงขอใช้โอกาสแรกในการทักทายและแนะนำตัวกับทุกท่าน เผื่อจะได้เป็นข้อมูลสำหรับการพูดคุยกันต่อไป

งานที่เคยผ่านมือและประสบการณ์ที่ผ่านมา

ปัจจุบันผมเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารการปฏิบัติการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี พื้นฐานด้านปริญญาตรีผมมาจากสายวิศวกรรมโยธา แต่เรียนจบมาแล้วต้องมาทำงานสายบริหารธุรกิจ ช่วงต้นของชีวิตการทำงาน ผมทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมาเป็นเวลา 10 ปี ที่บริษัทนี้ผมได้รับโอกาสให้ทำงานหลายด้าน เริ่มต้นจากการบริหารโรงงานผลิต โดยผลงานสำคัญคือการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพ ISO9001:2000 ให้กับบริษัท

ช่วงนั้นเป็นเวลาเดียวกันกับที่ผมศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ที่ธรรมศาสตร์ เพื่อแสวงหาความรู้ที่ขาดหายไปสำหรับการเป็นผู้บริหาร หลังจากนั้นผมก็ได้รับโอกาสให้ทำงานในอีกหลายหน่วยงาน ทั้งภายใน เช่น งานด้านการตลาด บัญชีและการเงิน การจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐอเมริกา และงานภายนอกในสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย จนช่วงสุดท้ายกรรมการบริษัท ก็ได้มอบหมายภารกิจสำคัญในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเข้ามาทำงานในรั้วเหลือง-แดง
แม้ช่วงเวลาที่ได้ทำงานในภาคเอกชน จะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการแสวงหาความรู้ แต่ก็สร้างประโยชน์ให้สังคมได้ในวงจำกัด ในช่วงปี 2552 ผมก็ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ในการเปลี่ยนงานจากภาคเอกชน เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการชักชวนของอาจารย์ที่ผมเคารพรักมากที่สุดท่านหนึ่ง “ผศ.เอกรินทร์ ยลระบิล” ให้มาทำงานในหน้าที่ รองผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ผมตอบรับโดยใช้เวลาพิจารณาไม่นานนัก เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้สร้างคุณค่า ให้กับทั้งตัวเองและสังคมในวงกว้างมากขึ้น

การเข้ามาธรรมศาสตร์ในครั้งนั้น นำไปสู่การสมัครเข้าเป็นอาจารย์ประจำในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงเวลา 7 ปี ที่อยู่ในประชาคมธรรมศาสตร์แห่งนี้ ผมได้มีโอกาสทำงานหลายอย่างที่อยากทำ ตั้งแต่การสอนด้านการปรับปรุงกระบวนการทำงาน การสร้างแผนธุรกิจ ได้ทำงานวิจัยที่สำคัญเชิงนโยบาย โดยได้รับทุนจาก สกว. เกี่ยวกับแผนโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ในอาเซียน และที่ภูมิใจมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ เป็นโค้ชให้กับทีมนักศึกษา MBA แข่งขันบริหารโรงงานจำลอง ที่จัดโดย MIT Sloan School of Management ชนะเลิศได้อันดับหนึ่งของโลก

“การอยู่ในสายบริหารธุรกิจ ทำให้สามารถมองเห็นกระแสพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งกำลังจะทำพวกเราทุกคนเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ในการดำรงชีวิต”

ทำไมถึงสนใจงานห้องสมุด?
ผมได้โอกาสจากอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านเดิมอีกครั้ง ในการเข้ามาช่วยงานที่หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมมองเห็นโอกาสหลายอย่างที่หอสมุดฯ สามารถเปลี่ยนแปลงบริบทการเรียนรู้ให้กับคนในประชาคมธรรมศาสตร์ และยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานสูงในระดับนานาชาติ ผมได้เริ่มพูดคุยกับบุคลากรของหอสมุดหลายท่าน และดีใจมากที่ได้เห็นว่า หอสมุดมีบุคลากรที่มีศักยภาพที่จะนำพาหอสมุดไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ในบรรทัดฐานใหม่

ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเสียดายที่บุคลากรหลายท่านที่เป็นทรัพยากรคนสำคัญของหอสมุดได้เกษียณอายุหรือกำลังจะเกษียณอายุในเวลาอันใกล้ สิ่งนี้ทำให้ผมย้อนคิดถึงวิธีการบริหารงานที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร สามารถรักษาและเพิ่มพูนความรู้ให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ระบบบริหารงานอย่างมีคุณภาพ (Quality Management System) ซึ่งในโลกบริหารธุรกิจ มีรูปแบบการบริหารเช่นนี้อยู่หลายสำนัก แต่สำนักหนึ่งที่เป็นสากล และได้รับความนิยมจากทั่วโลก โดยมีองค์การขนาดเล็กและใหญ่นำไปใช้กว่าหนึ่งล้านองค์กร คือ มาตรฐาน ISO9001 ซึ่งปัจจุบันเป็นมาตรฐานเวอร์ชั่น 2015 ที่ได้ปรับปรุงจากรุ่นก่อน โดยเน้นการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ และการจัดการความเสี่ยงขององค์กร โดยที่ยังไม่ทิ้งเรื่อง การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การใส่ใจลูกค้าและผู้ใช้บริการ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรอีกด้วย

มีโครงการหรือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาห้องสมุดที่วางไว้หรือไม่
โครงการแรกที่ผมและ ผศ.เอกรินทร์ ยลระบิล ผอ.หอสมุดแห่ง มธ. ตั้งใจจะสร้างให้เป็นรูปธรรม โดยบุคลากรทุกคนของหอสมุดฯ มีส่วนร่วม คือ การพัฒนาระบบบริหารคุณภาพ ISO9001:2015 เป็นระบบประกันคุณภาพ โดยตั้งเป้าที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานนานาชาตินี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ภารกิจนี้จำต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกๆคน เพื่อยกระดับการบริหารงานและการบริการสู่ความเป็นสากลในอีกระดับหนึ่ง

หัวใจของการทำงานบริหารคืออะไร
ในการทำงานผมถือคติสำคัญอย่างหนึ่งคือ “การเป็นผู้บริหารไม่ใช่ตำแหน่งสูงส่ง ทีมงานต้องเข้าใจ และเข้าถึงเราได้” ฉะนั้นประตูห้องและช่องทางติดต่อผมเปิดเสมอ สำหรับการเรียนรู้และเข้าใจกัน เพื่อนำไปสู่ความสุขในการทำงาน และความยั่งยืนของหน่วยงาน