ทำไมหนังสือไม่เคยเต็มห้องสมุด?

หลายคนที่เข้าห้องสมุดบ่อยๆ คงแปลกใจว่าในเมื่อห้องสมุดซื้อหนังสือใหม่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไมหนังสือไม่เต็มห้องสมุดซะที

234
ภาพหนังสือใหม่ของห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์

.หนังสือหาย
.หนังสือมีคนยืมไปใช้
.หรือมีห้องต้องประสงค์ซ้อนอยู่ในห้องสมุด

อันที่จริงแล้วเหตุผลที่หนังสือไม่เคยเต็มห้องสมุดเลย ในห้องสมุดที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศเป็นอย่างดี เพราะว่านอกจากกระบวนการจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุดแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปจะมีการประเมินการใช้งานหนังสือเหล่านั้นว่า

#มีความต้องการใช้งานอยู่มากน้อยเพียงใด
.มีการยืมออกครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
.มีการหยิบออกจากชั้นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ (In house use)

S__31154279
เอกสารจากคอลเลคชั่น ศ.อดุลย์ วิเชียรเจริญ ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์

#ความทันสมัยของเนื้อหาและสภาพของหนังสือ
.มีฉบับพิมพ์ครั้งที่ใหม่กว่า
.มีการปรับปรุงเนื้อหาภายในเล่มใหม่
.มีลักษณะทางกายภาพที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ชำรุด มีการขีดเขียน เนื้อหาบางส่วนขาดหายไป เป็นต้น

นอกจากนี้ห้องสมุดบางแห่งยังใช้วิธีการประเมินคุณค่าของหนังสือโดยผู้เชียวชาญเฉพาะสาขาวิชา เพื่อเก็บรักษาเฉพาะหนังสือที่มีคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้า มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จะถูกแยกนำมาเก็บเข้าคอลเลคชั่นพิเศษ เช่น หนังสือหายาก (Rare Book) ซึ่งจะมีการดูแลเป็นอย่างดี มีห้องแยก มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่สามารถยืมออกจากห้องสมุดได้

หนังสือทั่วไปที่ไม่ถูกยืมออก ไม่โดนหยิบใช้งาน จะเป็นหนังสือกลุ่มแรกที่ถูกพิจารณาจำหน่ายออกจากห้องสมุด หากมีจำนวนหลายฉบับในชื่อเรื่องเดียวกัน อาจถูลดจำนวนฉบับพิมพ์ลงจาก 10 เล่มเหลือแค่ 2 เล่ม หรือจำหน่ายออกทั้งหมด ขึ้นอยู่กับนโยบายในการบริหารจัดการ และความเหมาะสมในขณะนั้น

S__31154278
คลังหนังสือ (Book Bank) ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันมีหนังสือ งานวิจัย และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ประมาณ 280,000 เล่ม

อย่างหอสมุด มธ. ของเรามีคลังหนังสือ (Book Bank) ซึ่งอยู่ที่ศูนย์รังสิต ใช้ชื่อว่า “ห้องสมุดศูนย์รังสิต” จะเป็นสถานที่พักพิง เก็บรักษาหนังสือเหล่านั้น ที่ถูกคัดออกจากห้องสมุดสาขาต่าง ๆ หนังสือที่ถูกคัดออกจะมีการเก็บตัวเล่มไว้ที่คลังหนังสืออย่างน้อย 1 เล่มเสมอ เพื่อวันหนึ่งมีความต้องการใช้งานก็สามารถนำออกมาให้บริการได้ผ่านบริการ Book Delivery

หนังสือบางส่วนรวมทั้งวารสารฉบับย้อนหลัง หนังสืออนุสรณ์งานศพ งานวิจัยต่าง ๆ เช่น วิทยานิพนธ์ของนักศึกษา งานวิจัยของสถาบัน (Institutional repository) ข้อสอบเก่า เป็นต้น จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสงวนรักษาให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถค้นหา และดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) ได้นั่นเองครับ

S__31154274
กระบวนการสงวนรักษาหนังสือให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์