“การอ่าน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือสื่อสังคมออนไลน์ สามารถนำมาพัฒนาตัวเองได้ทั้งสิ้น ทั้งเพิ่มพูนความรู้ ได้แนวคิดมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่่อประสบความสำเร็จในอนาคต”
อาจารย์เกรียงไกร สกุลประเสริฐศรี อาจารย์ประจำสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประโยชน์ของการอ่านและอยากให้ทุกคนหันมารักการอ่านมากขึ้น
จุดเริ่มต้นของการอ่าน
อาจารย์เริ่มต้นการอ่านหนังสือจริงจัง ช่วงสมัยมัธยม ต้องบอกว่าเดิมเป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือ แต่ด้วยความตั้งใจที่อยากได้ทุนไปพัฒนาทักษะภาษาในต่างประเทศ จึงหันมาอ่านหนังสือ ประเภทแรก ๆ ที่เลือกอ่าน คือ นวนิยายแปล ของ แดน บราวน์ และอีกเรื่องที่ชอบ คือ อาร์ทิมิส ฟาวล์ เพราะด้วยคำศัพท์และภาษาที่ใช้เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นในการฝึกการอ่านภาษาอังกฤษ
เมื่อได้ทุนแลกเปลี่ยนจากโรตารี่ ไปเรียนภาษา ณ สหรัฐอเมริกา ได้เห็นถึงความแตกต่างของการเรียนการสอนของสหรัฐฯ ที่เน้นเรื่องการอ่านค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น การอ่านหนังสือพิมพ์ นวนิยาย จึงทำให้ซึมซับและเกิดเป็นนิสัยรักการอ่าน เวลาไปไหนมาไหนต้องมีหนังสือพกติดตัว 1- 2 เล่มเสมอ
หนังสือเล่มโปรด
อาจารย์มีหนังสือเล่มโปรดหลายเล่ม เพราะชอบอ่านหลายรูปแบบ แต่ถ้าจะให้แนะนำตอนนี้ เป็น 2 เล่มโปรดที่มักจะชอบหยิบมาอ่านเป็นประจำ คือ ผจญไทยในแดนเทศ ของ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และอีกเล่ม คือ สุนทรภู่ไม่เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง ของ ครูทอม คำไทย เพราะด้วยเนื้อหาในหนังสือน่าสนใจ โดยเฉพาะผจญไทยในแดนเทศ เป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะภูมิใจ เพราะในหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของคนไทยที่ไปโลดแล่นในประวัติศาสตร์โลก
“ด้วยความที่เป็น ครูสอนภาษา เราต้องรู้รอบ โดยเฉพาะในเรื่องของประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อนำมาสอน เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ให้นักศึกษาได้สนใจมากขึ้น”
สิ่งสำคัญของการอ่าน คือ การเปิดโลกทัศน์ เสริมสร้างความรู้นอกห้องเรียน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ได้รับความรู้ แนวความคิดใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หนังสือไม่ว่าจะเล่มไหน สามารถช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน หรือทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตในอนาคต
คุณค่าของการอ่านจริง ๆ มีอีกมากมาย เช่นเดียวกับหนังสือ ก็ยังมีอีกหลายเล่มให้เราได้ค้นหา … เพื่อวันหนึ่งเราจะได้เจอหนังสือเล่มโปรดของเรา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ หรือ เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้ได้พัฒนาตัวเองต่อไป