กษิดิศ อนันทนาธร : ใคร่ครวญตัวเองจากการอ่าน

“เวลาที่อ่านหนังสือสำหรับผม มันสนุกตรงที่ได้เถียงกับคนเขียน คือเราไม่ได้อ่านหนังสือแล้วเราเชื่อว่าสิ่งที่คนเขียนมันถูกเสียทีเดียว  ถ้ามีอะไรที่ตรงใจกับเรา เราก็จะช้อตโน้ตไว้  สำหรับผมหนังสือที่ผมอ่าน เหมือนสมุดบันทีกความคิด กลับมาอ่านอีกรอบจะเห็นการเติบโตของตัวเอง”

กษิดิศ อนันทนาธร
กษิดิศ อนันทนาธร

“กษิดิศ  อนันทนาธร”  นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังคงคว่ำวอดอยู่กับวงการหนังสือในฐานะบรรณาธิการ ฝากผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะหนังสือในโครงการป๋วยฯ 100 ปี

หนังสือที่อยากแนะนำให้อ่าน

j5

วันนี้ผมหยิบมา 3 เล่ม  เล่มแรก  “แลไปข้างหน้า” ของ ศรีบูรพา  หรือ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของ Code อมตะ  “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ส่วนใหญ่คนจะรู้จัก ศรีบูรพา จาก ข้างหลังภาพ  แต่ผมรู้จัก ศรีบูรพา อีกมุมหนึ่ง จากหนังสือ สงครามชีวิต

ผมชอบภาษาของศรีบูรพา คนอะไรเขียนหนังสือได้สวยขนาดนี้ อุดมการณ์ดี  ไอเดียดี  และที่ชอบเป็นพิเศษ คือ หนังสือ  “แลไปข้างหน้า” เพราะ  ส่วนหนึ่งเป็นการเล่าประวัติของศรีบูรพาเองแต่แปลงมาเป็นนวนิยาย ประเด็นที่สนุกมากสำหรับผม คือ เรื่องการเข้าธรรมศาสตร์ ศรีบูรพาเขียนเล่มนี้ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้เห็นว่าเด็กบ้านนอกที่เข้ามาเรียนในเมืองได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างไร เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งขึ้นมา เพื่อรับใช้อุดมการณ์ราษฎร์  ธรรมศาสตร์ทำอะไรบ้าง ผมชอบมาก

“มหาวิทยาลัยสอนให้เขารู้จักคุณค่าของประชาธิปไตย  ซึ่งนำไปสู่ความรักประชาธิปไตย และความพร้อมเพรียงที่จะพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย การเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย ทำให้เขาเล็งเห็นถึงความสำคัญของประชาชน และทำให้เขาสนใจเรื่องราวของประชาชน”   หนึ่งในข้อความที่กษิดิศ เขียนในหนังสือ แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา 

“นักศึกษา มธ.อ่านแล้วจะฟินมากว่า มหาวิทยาลัยเรามีคุณค่าขนาดนี้”

ในเล่มนี้ศรีบูรพา จะพูดถึงอุดมการณ์ทางการเมือง และวิจารณ์การเมืองในสมัยนั้นค่อนข้างมากและไม่เคยพูดถึงในเล่มอื่น ๆ ถ้านักศึกษาที่สนใจเรื่องการเมือง เล่นนี้น่าจะเป็นหนังสือที่ดีอีกเล่มหนึ่ง เพราะถึงมันจะเก่ามาก แต่เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองมันไม่ค่อยต่างกัน  และยังให้แง่คิดทางการเมืองที่ดี”

เล่มที่ 2 คือ นิทานชาวไร่  ของ น.อ.สวัสดิ์ จันทนี  เป็นหนังสือที่เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ดีมาก ๆ อีกเล่มหนึ่ง  โดยเล่าเรื่องจากความทรงจำ ของนายแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งได้ไปคุยกับคนเก่า ๆ  ช่วงเวลาย้อนไปตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9  ซึ่งทำให้คนในสมัยนี้ได้เห็นภาพของคนที่เป็นคนจริง ๆ ในประว้ติศาสตร์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เด็ก ๆ ท่องจำในชั้นเรียน

เล่มที่ 3 คือ หนังสือชุด Global Change ของ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ที่เล่าเรื่องที่เป็นกระแสของโลก ที่มักจะผ่านไปเร็ว เป็นประโยชน์สำหรับการติดตามโลก ที่อาจจะไม่สามารถตามอ่านในสื่อออนไลน์ได้ทัน

ระหว่างหนังสือ กับ e-book ชอบอ่านอะไรมากกว่ากัน

สำหรับผม หลักๆ จะอ่านจากสิ่งพิมพ์ที่เป็นเล่มมากกว่า เพราะต้องบอกว่า หนังสือกับ e-book สำหรับผมมีวัตถุประสงค์การใช้ต่างกัน  ผมเป็นโลกจิต ผมชอบอ่านหนังสือบนรถเมล์ หรืออ่านหนังสือบนโต๊ะในบ้าน อ่านแล้วก็จะเขียนความคิดตัวเองลงไปด้วย  เวลาที่อ่านหนังสือสำหรับผม มันสนุกตรงที่ได้เถียงกับคนเขียน คือเราไม่ได้อ่านหนังสือแล้วเราเชื่อว่าสิ่งที่คนเขียนถูก เราจะเถียงกับคนเขียนไปว่า สิ่งที่เขาเขียนจริงหรือเปล่า มันถูกหรือเปล่า และถ้ามีอะไรที่ตรงใจกับเรา เราก็จะเขียนโน้ตไว้ เรื่องนี้เห็นด้วย

หนังสือจึงเหมือนสมุดบันทึกความคิด กลับมาอ่านอีกรอบจะเห็นความเป็นไปของตัวเอง  เล่มนี้ผมซื้อปี 54  อ่านรอบแรก ไม่ได้เขียนอะไรเลย อ่านอีกทีเมื่อเรียนจบ เขียนเต็มเลย  มันเหมือนบันทึกส่วนตัว  ผมชอบอ่านหนังสือเล่ม เพราะมันทำหน้าที่นี้ สนุกสำหรับผม

ส่วน e-books ใช้เมื่อจำได้แล้วว่าหนังสือเล่มนั้นพูดเรื่องอะไร มันเขียนเรื่องอะไร  เหมือนเราจะใช้เมื่อเขียนบทความ ต้องใช้หนังสือเยอะ ๆ  ก็จะใช้มาอ้างอิง  หรือ หนังสือเก่าจะใช้ e-books มากกว่า เพราะสะดวกกว่า

คุณคิดว่าหนังสือเปลี่ยนโลกจริงไหม

สำหรับผมมีส่วนจริงมากเลย  ผมได้รับประโยชน์อย่างมากในการเข้าห้องสมุด  ขอเล่าตอนที่ผมไปเรียนต่อมัธยมปลาย ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจเรียนที่จะเป็นหมอ เพราะตอนเป็นเด็กเราเรียนเก่ง ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่บอกให้เรียนอะไรก็เรียน และถ้ายังเรียนอยู่ที่จ.พิจิตรบ้านเกิดคงจะเข้าหมอยาก ที่บ้านเลยส่งให้ไปเรียนเชียงใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสอบเข้าเรียนหมอที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นผมเป็นเด็กที่โลกแคบมาก

เมื่อผมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแล้ว ห้องสมุดดีมาก  เราไปถึงโรงเรียนแต่เช้า ไม่รู้จะไปไหนก็เข้าห้องสมุด ไปเจอหนังสือจำนวนมาก  ที่คิดเลยคือ โลกนี้มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ  มีหนังสือดี ๆ  ทำให้เราเจอโลกอีกโลกหนึ่งในห้องสมุด

จนทำให้ตั้งคำถามต่อชีวิต ว่าเรื่องที่เราสนใจในแง่มุมอื่น ๆ  ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์ หนังสือประวัติศาสตร์เดิมก็จะเป็นประวัติศาสตร์แบบ conservative ก็จะไปเจอหนังสือประวัติศาสตร์ในโครงการตำราฯ ของอาจารย์ชาญวิทย์  ก็ตื่นเต้นมันมีหนังสือแบบนี้ด้วย

ผมค่อย ๆ พัฒนาโลกการอ่านของตัวเองไปเรื่อย ๆ   จากหนังสือที่อ่าน ตอนแรกจะอ่านพวกสารคดี ประวัติศาสตร์  ตอนนั้นเรื่องสั้น นวนิยายอ่านไม่เป็น  สักพักก็ค่อย ๆ เปลี่ยนอคติตัวเอง อ่านหนังสือแนวอื่นบ้าง เช่น แนววิทยาศาสตร์  ตอนแรกอ่านการ์ตูนไม่เป็น ตอนนี้ก็พอจะอ่านได้  แต่ที่อ่านไม่ได้เลยจริง ๆ  คือ พวกนิยาย Y

สิ่งที่อยากจะฝากถึงรุ่นน้อง ๆ ถึงประโยชน์ของการอ่าน

ข้อดีของการอ่านหนังสือ คือ ทำให้เรามีเวลาใคร่ครวญกับตัวเองมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้ข้อมูลต่าง ๆ มีเยอะมาก โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ บางทีเราอ่านพวกนั้นมันฉาบฉวย ไม่ค่อยมีเวลาได้คิด  หนังสือทำให้เราได้อยู่กับตัวเองประมาณหนึ่ง ได้ใคร่ครวญกับมัน

หากจะแนะนำให้อ่านหนังสืออาจจะพูดยาก แล้วแต่คนชอบ  จริง ๆ แล้ว หากเรามีหนังสือแนวที่ชอบอ่านแล้ว ก็อ่านไปเรื่อย ๆ  ยิ่งการที่ได้เข้าห้องสมุด มันก็มีประโยชน์ตรงที่เราจะเจออะไรที่เราไม่นึกว่าจะเจอ  เวลาเราค้นหนังสือ มันจะมีหมวดหนังสือใกล้ ๆ กัน อาจจะเจอเล่มอื่นที่ขยายความสนใจของเราไปได้อีก

… สำหรับผมถ้าอ่านแล้วไม่คิดก็จะไม่มีประโยชน์   ถ้าเกิดได้อ่านแล้วพยายามตั้งคำถาม พยายามสงสัย พยายามถกเถียงกับมัน เราจะค่อย ๆ หาอย่างอื่นไปเรื่อย ๆ เหมือนเราอ่านแนวประวัติศาสตร์ ก็จะถามว่าจริงไหม แล้วยังไงต่อ บางเรื่องทำให้เราเห็นว่า ความจริงในอดีตคืออะไร  มันทำให้เราเห็นโลกอีกโลก และเติบโตไปได้ไกล จนถึงที่สุดแล้วจะทำให้อัตตาเราเล็กลงมาก

อุดมการณ์ในชีวิตกับบทบาทของบรรณาธิการและนักเขียน 

สำหรับผมอยากอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น การเขียนหนังสือ และทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ทำ และยังทำอยู่ครับ

…ต้องบอกว่า ถึงแม้การเป็นบรรณาธิการและงานเขียนของ กษิดิศ อนันทนาธร  อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้หมดทุกอย่างอย่างที่เขาตั้งใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกหนังสือได้รู้จักคนที่ชื่อ “กษิดิศ อนันทนาธร”