ท่านคิดอย่างไรกับคำว่า “หนังสือเปลี่ยนโลก”
น่าจะเป็นการเปลี่ยนโลกของคนอ่าน เปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งรอบข้าง คนรอบข้างนะ และเกือบร้อยทั้งร้อยเป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะผมเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า อาจทำให้ผู้อ่านเปลี่ยนทัศนคติก็เป็นได้ครับ ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่อคนรอบข้างและสังคม
ท่านคิดอย่างไรกับการที่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามา
คิดว่าก็คงค่อยๆเข้ามา แต่คงยังไม่ถึงกับแทนที่ ผมว่าน่าจะมาช่วยในเรื่องของความสะดวกในการอ่านหนังสือทุกที่ ทุกเวลา โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี หรือที่เรา เรียกว่า “Ubiquitous Learning”
ผมมองว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีข้อดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความสะดวกในการพกพา เปิด Notebook หรือ Smartphone ที่ไหน เวลาไหนก็อ่านได้ตลอด ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน ความสะดวกเช่นนี้ก็คงจะเข้ามาช่วยให้การอ่านหนังสือทำได้ง่ายขึ้น เน้นนะครับ ผมก็ยังใช้คำว่า “ช่วย” ยังไม่ใช่ “แทน”
หนังสือเล่มใดบ้างที่เป็นเล่มโปรดของท่าน เพราะเหตุใด
หนังสือเล่มโปรดของผม และผมถือว่าเป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตผมเลยที่เดียวครับ คือเรื่อง “ทำอย่างไรให้เขายอม” เขียนโดยอาจารย์ผมเอง
“รศ.ดร. สิทธิโชค วรานุสันติกูล” อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงกลยุทธ์ต่างๆที่ผู้นำควรจะมี เพื่อโน้มน้าว จูงใจให้คนยอมทำตาม ซึ่งกลยุทธ์ต่างๆนั้นมีหลักคิด หรือ เป็นการใช้หลักทางด้านจิตวิทยา เป็นหนังสือที่อ่านง่าย ได้เรียนรู้ทฤษฏีเกี่ยวกับแรงจูงใจ รวมทั้งแง่มุมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ในด้านเนื้อหาถือได้ว่าเป็นระดับเป็นตำราวิชาการ มีการนำเสนอที่น่าสนใจครับ อ่านง่าย สนุก เต็มไปด้วยตัวอย่างจริงที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องราวและทฤษฏีต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เป็นหนังสือที่ทำให้ผมเข้าใจชีวิต เข้าใจคนมากขึ้น
ข้อคิดสำคัญที่เปลี่ยนมุมมองในการทำงานกับคนคือ เราต้องเข้าใจว่าทุกคนแตกต่าง แต่ละคนเลือกทำอะไรอย่างไรก็มีเหตุผลของแต่ละคน เราไม่ควรไปตัดสินการกระทำของใครที่ไม่ตรงใจเราว่าไม่ถูกต้อง เพราะประวัติศาสตร์ของแต่ละคนแตกต่างกัน และข้อคิดที่ได้อีกเรื่องคือ “ชั่วดีรู้หมด แต่อดใจไม่ไหว” ลองไปอ่านกันดูครับ สนุกได้หลักคิดดีๆ มาใช้ในการทำงาน
ท่านคิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญในการสร้างสังคมแห่งการอ่าน
กิจกรรมที่หอสมุดทำก็มีส่วนช่วยส่งเสริมนะ เรามาช่วยกันทำต่อไปเรื่อยๆนะครับ ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว ทำต่อไป ให้กระทบกลุ่มคนวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สู้ๆกันต่อไปครับ