เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาวิชาการในหัวข้อ Evidence-base library & Information practice ที่สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดขึ้น โดยมี Adj. Prof. Gillian Hamllam จาก Queensland University of Technology ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้บรรยาย
ในช่วงต้นของการบรรยาย Adj. Prof. Gillian Hamllam ได้แนะนำให้เข้าใจความหมายของคำว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-base practice -EBP) โดยยกตัวอย่างคำจำกัดความต่างๆ เช่น “การตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ ที่อยู่บนพื้นฐานของการรวมกันระหว่างการคิดวิเคราะห์และหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด ที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น” (Barends, Reusseau & Briner, 2014, p.2)
จากนั้นได้กล่าวถึงความสำคัญของทักษะในการพิจารณาหลักฐานเชิงประจักษ์ (แยกให้ออกระหว่าง Fact และ Opinion) ว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด หรือศูนย์บริการสารสนเทศต่างๆ ความสามารถในการใช้คัดเลือกสรรสารสนเทศต่างๆ ให้กับผู้ใช้บริการ รวมทั้งปรับใช้กับการพัฒนาองค์กร เช่น ในส่วนของการเลือกข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจ การวิเคราะห์ประเมินคุณค่าของหลักฐาน ว่ามีความน่าเชื่อถือเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ โดยทักษะที่ผู้บรรยายเน้นย้ำ คือ การตั้งคำถาม (Ask) และการคิดวิเคราะห์ (Critical thinking)
ผู้บรรยายได้กล่าวถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ และกระบวนการนำไปใช้ ดังนี้
ประเภทของหลักฐานเชิงประจักษ์ แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
Hard Evidence คือ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เช่น ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สถิติ รายงาน บทความ Data-sets เป็นต้น
Soft Evidence คือ ข้อมูลที่เป็นลักษณะของข้อคิดเห็น เช่น คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ คำบอกเล่า หรือความคิดใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้รับการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบบ
กระบวนการวิเคราะห์เพื่อให้สามารถเลือกหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า 5As ดังนี้
Ask การตั้งคำถาม (รศ.ดร.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล ให้ข้อเสนอแนะว่า คำถามควรถามในลักษณะที่ว่า ทำอย่างไร และ ทำเพื่ออะไร เพื่อให้ผลของคำถามทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และนำไปสู่การใช้งานจริง)
Acquire การสืบค้นรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์
Appraise การพิจารณาหลักฐานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เช่น ความเที่ยงตรง ความน่าเชื่อถือ (Hard / Soft Evidence)
Apply การนำหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านการพิจารณาว่าดีที่สุดไปใช้
Analyze & Adjust การประเมินผลที่เกิดจากการตัดสินใจ
สุดท้ายผู้บรรยายได้กล่าวถึงการ นำกระบวนการหาหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ในการพิจารณาคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ ของวรรณกรรมที่นำมาทบทวน รวมทั้งนำมาประยุกต์ในการทำงาน การวิจัยต่อยอดงานวิจัย หรือนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาพัฒนาเป็นแนวทาง หรือ มาตรฐานการปฏิบัติ โดยมีการประเมินผลการใช้และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิงจากเอกสารประกอบการบรรยาย
Gillian Hamllam. (9 กุมภาพันธ์ 2558). Evidence-base library & Information practice. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.