เครื่องมือป้องกันการคัดลอกผลงานทางวิชาการ (Plagiarism detection tools)

เนื่องจากในปัจจุบันพบการกระทำที่   เรียกว่า การโจรกรรมทางวรรณกรรม (Plagiarism) ในทางวิชาการเพิ่มมากขึ้นและมักปรากฏเป็นข่าวทางสื่อ หรือเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่สุจริตทางวิชาการในวงกว้าง ถึงความมักง่ายทางวิชาการ ที่ผู้นำเสนอไปคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาโดยไม่อ้างถึง ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวงการวิชาการในระดับนานาชาติ

News2

เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้มีการพัฒนา เครื่องมือป้องกันการคัดลอกผลงานทางวิชาการ (Plagiarism detection tools) ขึ้นเพื่อช่วยนักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย ในการทำวิทยานิพนธ์ วิจัย หรือผลงานทางวิชาการ โดยตรวจสอบการคัดลอกผลงานจากฐานข้อมูลต่างๆ โดยหากพูดถึงเครื่องมือป้องกันการคัดลอกผลงานทางวิชาการแล้ว หลายคนคงคุ้ยเคยกับชื่อของโปรแกรม Turnitin เป็นแน่ เนื่องจากเป็นโปแกรมที่มีฐานข้อมูลที่ใช้ตรวจสอบการคัดลอกมาก และสามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ จึงทำให้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่มีข้อจำกัดในการตรวจสอบการคัดลอกผลงานที่เป็นภาษาไทย

turnitin2
ที่มา: stanglibrary.wordpress.com

ในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา จึงได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ ที่รองรับการตรวจสอบผลงานที่เป็นภาษาไทย เช่น MyCat ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนาระบบขึ้นมาและ อักขราวิสุทธิ์ ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง คณะอักษรศาสตร์ กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

Mycat

MyCat (Management System for Copyright, Academic Work and Thesis) คือ ระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์ เป็นระบบที่ช่วยให้กระบวนการจัดการวิทยานิพนธ์เป็นไปอย่างครบวงจร โดยเริ่มการจัดส่งร่างวิทยานิพนธ์ การตรวจสอบการคัดลอกโดยใช้ระบบ CopyCat (Copyright, Academic Work and Thesis Checking System) และการจัดเก็บรูปเล่มวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์

เมื่อนักศึกษาส่งวิทยานิพนธ์เข้าสู่ระบบ MyCat ระบบจะตรวจสอบการคัดลอกโดยเปรียบเทียบไฟล์วิทยานิพนธ์ที่ส่ง กับคลังข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในระบบ ซึ่งเอกสารที่จัดเก็บในคลังข้อมูลดังกล่าวมีหลากหลายประเภท เช่น วิทยานิพนธ์ บทความวิชาการ เอกสารจากอินเทอร์เน็ต ระบบจะส่งผลลัพธ์การตรวจ พร้อมทั้งเปอร์เซ็นต์ความคล้าย ให้อาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาและส่งให้นักศึกษาปรับแก้ไข หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการส่งวิทยานิพนธ์แล้ว ระบบจะทาการจัดเก็บรูปเล่มฉบับสมบูรณ์ไว้ในคลังข้อมูล เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

pro

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสำนักหอสมุด ได้มีการส่งเสริมการใช้งาน MyCat ระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์ ให้แก่ คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ ทำให้สามารถสร้างผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ และไม่ละเมิดจริยธรรมทางวิชาการ

 อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการที่ดีเพียงใด แต่หากไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างผลงานทางวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมแล้วไซร้ เครื่องมือก็เป็นเพียงแมวที่วิ่งไล่จับหนูไม่มีวันสิ้นสุด

รายการอ้างอิง
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (ม.ป.ป.).  สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 จาก http://www.copy-cat.in.th/index.html.