“ความสามัคคี มีพลัง รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” คำกล่าวนี้เปรียบได้กับชาวบ้านบางระจัน ที่เป็นละครดังหลังข่าวทางไทยทีวีสีช่อง 3 (จะ HD หรือ ไม่ HD คงดูกันทั่วหน้า) วีรชนชาวบ้านที่แสดงออกถึงความสามัคคี ความรักและหวงแหนต่อแผ่นดินเกิด ที่ไม่ยอมให้ข้าศึกเข้ามารุกราน แม้นตัวตายก็ยอมขอให้ชาติอยู่รอดปลอดภัย แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมว่าการที่จะปกป้องแผ่นดินอันเป็นที่รัก แผ่นดินแม่ แผ่นดินที่ให้กำเนิด นั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่มันอยู่ที่จิตใจที่มั่นคง ความตระหนักในความเป็นไทย จิตสำนึกของความเป็นคน ที่แสดงออกมาข้างในถ่ายทอดมาเป็นการกระทำ ดังเช่น ชาวบ้านบางระจันที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่จะมีใครรู้ไหมว่าการต่อสู้กับข้าศึกที่เข้ามาประชิดหน้าค่ายนั้นต้องสูญเสียไพร่พล ชาวบ้านสักเท่าไหร่ การรบกี่ครั้ง แต่ก็ไม่ถอยเพื่อแผ่นดินที่เรียกว่าแผ่นดินไทย ในบทความนี้จะกล่าวถึง
11 วีรชนผู้ที่เป็นพ่อบ้านบ้านระจัน (บางระจัน) โดยเริ่มจากท่านแรก
1. พันเรือง
เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน (บ้านระจัน) เมื่อถูกพม่าเข้าปล้นหมู่บ้านหาข้าวปลาอาหารทัพ ชาวบ้านถูกทหารพม่ารังแก ข่มแหง จึงได้รับความเดือดร้อน นายพันเรือง นายทองแสงใหญ่ นายจันหนวดเขี้ยว ปรึกษากันให้ชาวบ้านบางระจันทั้งหมด ไปอยู่ในวัดโพธิ์เก้าต้นเป็นที่หลบทหารพม่าเพราะมีคลองธรรมชาติล้อมรอบถึง 2 ชั้น และรวมชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง ซึ่งแบ่งกลุ่มกันออกลาดตะเวน หลอกล่อทหารพม่าให้หลงทางเข้าตีไม่ถูก และนายพันเรืองยังเป็นผู้ออกความคิดหล่อปืนใหญ่ เพื่อยิงทำลายค่ายพม่า จึงชักชวนชาวบ้านช่วยกันเสียสละทองเหลือง ทองแดง หล่อปืนขั้น 2 กระบอก แต่ใช้การไม่ได้ อาจเป็นเพราะโลหะไม่เป็นชนิดเดียวกันหรือไม่มีความชำนาญ ชาวบ้านต้องอยู่ในสภาพเสียขวัญกำลังใจ และท่านได้หลบหนีทหารพม่าในคราวค่ายแตกไปเสียชีวิตริมฝังคลอง
2. นายแท่น
เป็นคนบ้านศรีบัวทองแขวงเมืองสิงห์บุรี เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญและมีฝีมือในการวางแผนรบ จัดได้ว่าเป็นแม่ทัพใหญ่อีกท่านหนึ่ง นายแท่นคุมพลเข้ารบกับทหารพม่าหลายครั้งได้รับชัยชนะ ในการรบครั้งที่ 2 ท่านคุมพล 200 คน เป็นทัพหลวงท่านคุมพลเข้าตีลวงหม่าก่อน และให้ทัพปีกขวาและปีกซ้ายเข้าตีโอบหลังสนามรบคือฝั่งคลองทุ่งห้วยไผ่สะตือสี่ต้นในการรบครั้งนั้นท่านได้รับชัยชนะ และสามารถฆ่าแม่ทัพพม่าได้คือ สุรินทร์จอข่อง แต่ท่านก็ได้รับความบาดเจ็บที่เข่า เนื่องจากถูกอาวุธของข้าศึกต้องหามกลับค่ายหลังจากนั้นท่านต้องนอนรักษาตัวอยู่ในค่ายได้มินานก็เสียชีวิตเพราะพิษบาดแผล
3. นายโชติ
เป็นคนบ้านศรีบัวทอง แขวงเขตเมืองสิงห์บุรีติดต่อเมืองสุพรรณบุรี นายโชติได้รวมชาวบ้านที่ถูกกองลาดตะเวนของทหารพม่าข่มเหงและให้ส่งหญิงสาวให้ในครั้งนั้นท่านกับพรรคพวกได้ลวงทหารพม่าไปฆ่าได้กว่า 20 คน จากนั้นท่านและชาวบ้านจึงมาอยู่รวมกัน ณ บางระจัน ท่านได้ต่อสู้กับทหารพม่า จนเสียชีวิตในสนามรบ
4. นายอิน
เป็นคนบ้านสีบัวทอง ที่มากับนายแท่น นายโชติ นายเมือง เป็นคนหนึ่งที่ร่วมกันฆ่าทหารพม่าในครั้งแรก แล้วมารวมรวมกำลังตั้งค่ายบางระจันขึ้น ณ วัดโพธิ์เก้าต้น ท่านเป็นผู้นำชาวบ้านที่ออกต่อสู้กับทหารพม่า ด้วยความกล้าหาญ จนตัวตายในสนามรบ
5. นายดอกแก้ว
อยู่เมืองวิเศษชัยชาญ เมืองถูกกองทัพพม่าตีเมืองวิเศษชัยชาญแตกและยึดเมืองได้ นายทองแก้วจึงรวบรวมชาวบ้านหลบหนีไปอยู่ที่บ้านโพธิ์ทะเล ท่านหนีออกมาคราวเดียวกับยานดอก
6. นายทองแสงใหญ่
ท่านที่เป็นผู้นำระดับแนวหน้า และท่านเป็นผู้ที่คิดตั้งค่ายน้อยเพื่อลวงทหารพม่า ท่านคัดชายฉกรรจ์ จำนวนหนึ่ง ตั้งค่ายขึ้นอีกค่ายหนึ่ง ซึ่งห่างจากค่ายใหญ่ออกไป ในค่ายใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยคนแก่ทั้งชายหญิงเด็กเล็กและผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากการสู้รบและมีการเสียชีวิตทุกวันท่านต่อสู้กับทหารพม่าด้วยกำลังที่มีอยู่ทั้งหมด
7. นายเมือง
เป็นคนบ้านศรีบัวทอง เมืองสิงห์บุรี ร่วมกับนายอิน นายโชติ นายแท่น และชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ลวงทหารพม่าไปฆ่า และท่านเป็นคนไปนิมนต์ พระอาจารย์ธรรมโชติ จากแคว้นเมืองสุพรรณ มาอยู่วัดโพธิ์เก้าต้น ค่ายบางระจัน
8. ขุนสรรค์
จากเมืองสรรค์บุรี ท่านได้รวบรวมชาวบ้านต่อสู้กับทหารพม่าที่ยกทัพพม่ามาทางเมืองอุทัยธานีท่านมีฝีมือในการยิงปืน เมื่อท่านกับชาวบ้านต่อต้านทหารพม่าไม่ไหวจึงชักชวนชาวบ้านมารวมกันที่บางระจัน และได้รวมรบกับชาวบ้านศรีบัวทอง ชาวเมืองวิเศษชัยชาญ ชาวบ้านที่รวมตัวกันอยู่ ที่วัดโพธิ์เก้าต้นค่ายบางระจัน ท่านได้ให้ชาวบ้านรวบรวมอาวุธต่าง ๆ ที่ยึดได้จากทหารพม่าในการรบทุกครั้ง
9. นายดอก
ท่านอยู่เมืองวิเศษชัยชาญ เมื่อกองทัพพม่ายกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา แม่ทัพพม่าสั่งให้กองทัพออกตีหัวเมืองต่าง ๆ เมืองวิเศษชัยชาญจึงอยู่ในเป้าหมาย เมืองกองทัพพม่าเข้าตีเมืองวิเศษชัยชาญแตก นายดอกจึงชักชวนชาวบ้านไปอยู่บ้านตลับ คือบ้านตลับ ในปัจจุบัน นายดอกเป็นผู้นำชาวบ้าน ท่านได้ร่วมรบกับชาวบ้านบางระจัน กองทัพพม่าบุกเข้าได้แล้ว ทำให้ท่านเสียชีวิตในสนามรบ
10. นายจันหนวดเขี้ยว
ท่านเป็นคนบางระจัน เดิมเป็นคนชื่อจันชอบไว้หนวดและแต่งหนวดให้งอนดูเหมือนเขี้ยวชาวบ้านทั่วไปจึงเรียนท่านว่า นายจันหนวดเขี้ยว ท่านเป็นผู้กล้าหาญมีฝีมือในการต่อสู้ท่านเป็นเหมือนครูฝึกประจำหมู่บ้านให้เด็กหนุ่มสาว ในเมื่อทหารพม่ามาข่มเหงชาวบ้าน ท่านจึงออกช่วยชาวบ้านจึงเกิดการต่อสู้ เด็กหนุ่มที่ท่านฝึกให้รวมพลังกันรบทหารพม่าได้รับชัยชนะ ท่านจึงให้พวกชาวบ้านไปรวมตัวกันอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น ครั้งสุดท้ายพม่าเปลี่ยนวิธีการรบ คือพม่าสร้างค่ายเป็นป้อมค่ายมาเรื่อย ๆ และยิงปืนใหญ่ออกมา ไม่ต้องออกมารบแทน จึงสร้างความกดดันให้ชาวบ้านบางระจันเป็นอย่างมาก นายจันหนวดเขี้ยวพร้อมกับชาวบ้านเข้าตีค่ายพม่า ในค่ายพม่ามีสุกี้เป็นแม่ทัพ ท่านถูกทหารพม่าฆ่าตายในสนามรบ
11. นายทองเหม็น
ท่านว่าชาวบางระจัน เข้าร่วมในค่ายบางระจันและเป็นอีกท่านหนึ่งที่ร่วมวางแผนในการรบครั้งที่ 4 ท่านทำหน้าที่เป็นปีกขวา ร่วมกับนายโชติ นายดอก นายทองแก้ว คุมพล 200 คน ไปข้ามคลองบ้านขุนโลก ตีโอบหลังข้าศึก ผลทำให้พม่าแตกพ่าย ครั้งสุดท้ายพม่าทำการรบแต่ในค่ายโดยยิงปืนใหญ่ออกมา นายทองเหม็นสุดที่จะทนร่วมกับพวกชาวบ้านบางระจันจำนวนหนึ่ง โดยนายทองเหม็นขี่กระบือเผือกตลุยฝ่าค่ายพม่า จึงเสียทีพม่า นายทองเหม็นถูกพม่าจับฆ่าตายในที่นั้น
วีรกรรมของเหล่าผู้นำที่เสียสละเป็นที่ยกย่องกล่าวถึงเป็นร้อยปีและจะกล่าวขานต่อไปนานแสนนานเพื่อให้ลูกหลานได้จารึกถึงคุณงามความดีไปตลอดกาลเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ตลอดกาลนานเทอญ
รายการอ้างอิง
ข้อมูล
กระทรวงวัฒนธรรม. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม
http://www.m-culture.in.th/