มนุษย์

พระพุทธองค์ททรงตรัสไว้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่แสนจะยาก แต่มนุษย์บางคนได้โอกาสเกิดเป็นมนุษย์แล้ว แต่กลับกลายมาทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน เบียดเบียนกัน ฆ่ากัน ฉ้อโกง ทำทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ จะให้เรียกมนุษย์จำพวกนี้อย่างไรดี

untitled

แหล่งข้อมูลภาพ http://dekdeemedia.com/mcu/page07-19.html

เมื่อพูดถึง คำว่ามนุษย์ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2542 เป็นคำนาม แปลว่า สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล , สัตว์ที่มีจิตใจสูง ความหมายข้อนี้ ถ้านำหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามาเปรียบเทียบ น่าจะได้ในหลักธรรมข้อที่ว่า สัปปุริสธรรม หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ มี 7 อย่าง คือ

  1. ธัมมัญญุตา   ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่นเรามีความทุกข์ ต้องศึกษาดูว่า ที่เรามีความทุกข์เพราะสาเหตุเกิดจากอะไร เมื่อทราบสาเหตุแล้ว จึงสามารถแก้ปัญหาได้
  2. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้จักว่า ผลจากความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน เพราะรับผิดชอบในหน้าที่อย่างดี มีความขยัน และรู้จักพัฒนาตนเอง หรือประพฤติตนตั้งอยู่ในหลักอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
  3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน เช่นในปัจจุบันดำรงอยู่ในตำแหน่งอะไร เราจะต้องทำให้ดีที่สุดในตำแหน่งนั้น
  4. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตโดยที่ชอบ หมายถึงการงานที่ทำอยู่ต้องเป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม
  5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในการประกอบกิจนั้น
  6. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน เพื่อที่จะปฏิบัติตนให้เข้ากับชุมชนนั้น เพื่อความสงบสุขของชุมชน
  7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคลที่ควรคบ เช่นคบบัณฑิต ไม่คบคนพาล อย่างนี้เป็นต้น

คุณธรรมทั้ง 7 ประการนี้ เป็นหลักธรรมที่มีอยูในจิตใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง หรือมีจิตใจอันประเสริฐ

สำหรับมนุษย์บางคนที่ประกอบกรรมทำความชั่ว ดังที่ปรากฏในข่าวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และในโลกโซเชียลมีเดีย   เป็นต้น เช่น ลักขโมย ข่มขืนแล้วฆ่า ไม่เว้นแม้กระทั้งเด็กและคนชรา นอกจากนี้แล้วยังมีข่าวที่สะเทือนใจกับคนทั้งโลก -คงไม่พ้นข่าวการจับตัวประกันชาวญี่ปุ่น สองคน และนักบินชาวจอร์แดนอีกหนึ่งคน เพื่อยื่นข้อเสนอและมีเงื่อนไขบางอย่าง   สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ น่าสงสารตัวประกันจะต้องจบชีวิตด้วยการถูกฆ่าโดยวิธีการต่าง ๆ ดังที่ปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์

แล้วเราจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน หรือว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามกฎแห่งกรรม คงเป็นไปไม่ได้ ในฐานะเราเป็นชาวพุทธ น่าจะนำหลักธรรม ที่ชื่อว่าธรรมเป็นโลกบาล หรือธรรมคุ้มครองโลก มี 2 อย่างคือ

1.หิริ ความละอายแก่ใจ
2.โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป

ถ้ามนุษย์ทุกคนปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าว โลกนี้จะสงบร่มเย็น หยุดเสียทีเถอะเรื่องการรบราฆ่าฟันกันการทำร้ายกัน เบียดเบียนกัน ปองร้ายกัน เรารักสุขเกลียดทุกข์ คนอื่นก็เช่นเดียวกันกับเรา มาช่วยกันสร้างให้โลกนี้น่าอยู่ ไม่ต้องรอถึงยุคพระศรีอาริย

บรรณานุกรม

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น.

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. นวโกวาท (2522) .กรุงเทพฯ : ชินพรการพิมพ์