ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้ศึกษาวิชา การวางแผนและจัดการระบบสารสนเทศเชิงกลยุทธ์ จากโครงการปริญญาโทสาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการกับวิทยากรรับเชิญพิเศษ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ซึ่งปัจจุบันท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และผู้บริหารโรงพยาบาลศิริราช
ในครั้งแรกที่พบกันอาจารย์ให้นักศึกษาทุกคนแนะนำตัว บอกชื่อเล่น และตำแหน่งงาน เพื่อให้ผู้สอนรู้จักผู้เรียนมากขึ้น ในขณะที่นักศึกษาแนะนำตัวไปประมาณ 5 – 6 คน อาจารย์สามารถทวนชื่อของนักศึกษาทุกคนได้อย่างถูกต้อง
หลังจากที่นักศึกษาทุกคนแนะนำตัวจนครบแล้ว อาจารย์ก็ยังสามารถทวนชื่อเล่นของนักศึกษาทุกคนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ผู้เขียนประทับใจในตัวอาจารย์มาก
นักศึกษาทุกคนต่างสงสัย ว่าทำไมอาจารย์ถึงจำชื่อเล่นของนักศึกษาทุกคนได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ?
ท่านได้กล่าวว่า ในทางธุรกิจการจดจำชื่อคนให้ match กับหน้าตานั้นมีความสำคัญมาก เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าลูกค้าคนใดก็อยากให้ผู้ขายหรือผู้ที่ติดต่อประสานงานจดจำตนได้ ซึ่งการจดจำได้จะมีผลทางบวกกับความรู้สึกของลูกค้า ทำให้เกิดความประทับใจในตัวผู้ขาย และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ขายขายสินค้าได้มากขึ้น และเป็นผู้ขายอันดับหนึ่งที่ลูกค้าเลือก
ท่านจึงแนะนำว่าในการจดจำบุคคล ยังมีองค์ประกอบหลายประการที่มาประกอบกันแล้วทำให้เราสามารถจดจำได้ง่ายขึ้น ได้แก่ โครงหน้า ลักษณะหน้าตา รูปร่าง อักษรตัวแรกของชื่อ อาชีพ ภูมิลำเนา ที่อยู่ ความสนใจ หรือกระทั่งชื่อพี่น้องของบุคคลนั้น เป็นต้น
เมื่อนำข้อมูลส่วนต่างๆมาประกอบกัน จะสามารถสร้างเป็น story สั้นๆ ขึ้นมาได้ เมื่อเรานึกถึงก็จะทำให้เราระลึกได้ และจำได้ในที่สุด นอกจากองค์ประกอบเหล่านี้ การเรียกบ่อยๆ ก็จะทำให้จดจำได้ง่ายขึ้น เพราะการออกเสียงจะมีผลทางบวกกับความจำ ทำให้จดจำได้ดีขึ้น และอาจารย์ยังเล่าว่าท่านได้นำเทคนิคนี้ไปใช้กับการเรียนรู้ภาษาที่ 3 4 5 จนประสบความสำเร็จอีกด้วย
ในชีวิตการทำงาน การเรียนรู้ หรือไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เรายังต้องใช้การจดจำอยู่มาก ลองนำเทคนิคนี้ไปปฏิบัติกันดูนะคะ ต้องทำให้เราจดจำได้ดีขึ้นแน่นอนค่ะ