หลักการตรวจสอบภายใน และแนวทางการปฏิบัติงานตามหลักการตรวจสอบภายใน

จากโครงการอบรม เรื่อง แนวการปฏิบัติงาน ตามหลักการตรวจสอบภายในและการปลูกฝังจิตสำนึกในการทำงานภายในองค์กร ตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) จัดโดย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้น

หัวข้อ หลักการตรวจสอบภายใน และแนวทางการปฏิบัติงานตามหลักการตรวจสอบภายใน เป็นหนึ่งในหลักสูตรดังกล่าว โดยวิทยากร คือ นางชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบการเงินที่ 20 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

ชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบการเงินที่ 20  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบการเงินที่ 20 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

วิทยากร เริ่มการบรรยายด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมาของ การตรวจสอบภายใน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เริ่มมีงานตรวจสอบภายใน ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2505 กำหนดให้หัวหน้าราชการแต่งตั้งข้าราชการ ในหน่วยงาน 1 หรือหลายคน เป็นผู้ตรวจสอบภายใน รับผิดชอบในการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงิน การก่อหนี้ และงานอื่นตามที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมายเป็นการภายใน และรายกงานผลการตรวจสอบโดยตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง

จนในปีพ.ศ. 2510 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้ส่วนราชการที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เทียบเท่า และทุกจังหวัด มีตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ ให้ขึ้นตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการ

ในปี พ.ศ. 2531-2532 เริ่มมีระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ พ.ศ. 2532 เนื่องจากกระทรวงการคลัง เห็นว่า ควรให้ส่วนราชการมีการตรวจสอบภายในที่เป็นระบบ เพื่อเป็นเครื่องมือผู้บริหาร อย่างมีประสิทธิภาพ

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551- ปัจจุบัน ได้มีระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ พ.ศ. 2551

20150327-Internal-Audit-Pic2

วิทยากรได้ให้ แนวทางการปฏิบัติงานตามหลักการตรวจสอบภายใน สรุปแบบสั้นและจำได้ง่ายๆ ก็คือ

  1. ฟังหู ไว้หู (Eyes and Ears)
  2. เฝ้าระวัง (Policeman)
  3. ทำตัวเหมือนสุนัขเฝ้าบ้าน ส่วนสัญญาณอันตราย (Watchdog)
  4. เป็นที่ปรึกษา (Consultant)
  5. เร่งรัดการดำเนินงาน (Catalyst)

นอกจากได้ให้แบบประเมินตนเองของหน่วยงานตรวจสอบภายในของส่วนราชการ (Self-Assessment) เพื่อเป็นตัวช่วยในการประเมินตนเอง รวมทั้ง ให้ตัวอย่าง แบบสอบถามระบบการควบคุมภายใน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการให้ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเรื่องการบริหารงาน การเงิน การบริหารบุคคล เป็นต้น ซึ่งคำถามเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานภายในได้เป็นอย่างดี

จากการอบรมครั้งนี้ จะเน้นในเรื่องของการนำกรณีศึกษาต่างๆ ที่วิทยากรได้เข้าไปตรวจสอบ มาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์กันเป็นส่วนมาก และมีการซักถามถึงกรณีในการปฏิบัติที่อาจจะก่อให้เกิดการไม่สุจริต และควรจะหาวิธีแก้ไขอย่างไร หรือควรจะปฏิบัติอย่างไร และหัวใจหลัก คือ ถ้าเห็นหรือถ้าทราบ ต้องไม่นิ่งเฉย รวมทั้งให้แนวทางในการปฏิบัติที่อยู่ในกรอบของความถูกต้อง เช่น นักบัญชี ต้องลงบัญชีในสิ่งที่ถูกต้องและครบถ้วน เท่านั้น เป็นต้น ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความชัดเจน และเกิดความตระหนัก รวมทั้งต้องมีความระมัดระวังในการปฏิบัติที่จะไม่ก่อให้เกิดการกระทำอันไม่สุจริตได้