“เมี่ยงคำ” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

เมี่ยงคำ (Leaf-Wrapped Bite Size Appetizer) อาหารเรียกน้ำย่อย ม้วนห่อด้วยใบไม้ ใช้กัดกินเป็นคำ ๆ ไป อาหารเรียกน้ำย่อย หรือ appetizer นั้น คนไทยเรามิได้กินก่อนอาหารมื้อหลักอย่างฝรั่ง เป็นของกินเล่นระหว่างมื้อที่เรียกว่า ของว่าง หรือ เครื่องว่าง

เมี่ยงคำเป็นอาหารไทยโบราณ ดังปรากฏในบทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเรือเครื่องว่างของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า

“เมี่ยงคำน้ำลายสอ เมี่ยงสมอเมี่ยงปลาทู”

ในปี พ.ศ. 2557 กระทรวงวัฒนธรรมประกาศให้ “เมี่ยงคำ” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโสด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ให้ข้อคิดเรื่องธรรมชาติ-จักรวาล ว่า คนตะวันตกกับคนตะวันออกมองความหมายคำนี้ต่างกัน คือ

  • คนตะวันตกเห็นว่าสามารถควบคุมธรรมชาติได้ ตามความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ และต่อมาใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นี้ฝ่าฝืนธรรมชาติ เพื่อสร้างผลกำไรทางตัวเงินให้มากขึ้น
  • คนตะวันออก ซึ่งรวมถึงคนไทย เห็นว่า ธรรมชาตินั้นกว้างใหญ่ไพศาล ลึกล้ำสุดที่มนุษย์จะเข้าไปจัดการ หรือไปควบคุมได้ ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด มนุษย์จึงต้องสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับสิ่งภายนอกในสามมิติ คือ
  1. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
  2. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติรอบตัว
  3. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ

en-leaf-wrapped

เมี่ยงคำและการกินเมี่ยงคำตอบโจทย์นี้อย่างไร

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

เมี่ยงคำ เป็นของกินที่ต้อง ล้อมวง นั่งกินกันเป็นกลุ่ม ล้อมรอบสำรับ  คือ ต้องเห็นหน้าเห็นตากันทุกคน ทำให้เกิดการโอภาปราศรัยกัน

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติรอบตัว

ใบไม้ที่นิยมนำมาห่อเมี่ยงคำ คือ ใบชะพลู ใบทองหลาง  ชะพลูถือเป็นไม้ประจำบ้าน ปลูกง่ายและมีกินตลอดทั้งปี  ต้นทองหลางเป็นไม้เกื้อกูล (พี่เลี้ยง) คู่กับทุเรียน เพราะจะให้ร่มเงาเมื่อต้นทุเรียนยังเล็ก และคอยทิ้งใบร่วงหล่นลงสู่ท้องร่องสวน สำหรับเครื่องของเมี่ยงคำ ทั้งมะพร้าว กุ้งแห้ง ถั่ว เป็นของกินย่านเขตที่ราบใกล้ทะเลอย่างภาคกลางของไทย สิ่งเหล่านี้แสดงความเป็นท้องถิ่นไทยที่ชัดเจนละสมบูรณ์

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ

ในปัจจุบันเมี่ยงคำปรับมาเป็นของสำเร็จรูปมีทั้งที่แพ็กเป็นชุด จัดใบชะพลู มะพร้าวคั่ว  กุ้งแห้ง ถั่ว ขิง หอมแดง พริก มะนาว และน้ำเมี่ยงคำ ใส่ถุงพลาสติกไว้ หรือ ห่อเป็นคำๆ ราดน้ำ เสียบไม้ กินได้ทันที เป็นความยืดหยุ่นที่ก่อผลทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนปัจจุบันที่ต้องรีบเร่งในจังหวะของชีวิต

เมี่ยงคำ เกี่ยวโดยอ้อมกับมิติทางจิตวิญญาณ เช่น การทำเมี่ยงคำด้วยตนเองถือเป็นการปฏิบัติสมาธิขั้นพื้นฐาน นับแต่การจัดเตรียมเครื่องเครา ที่ทุกอย่างต้องหั่นซอยอย่างละเอียด การคั่วมะพร้าวเป็นงานที่ต้องจัดการอย่างมีสมาธิ ประณีตและใส่ใจ ทั้งใช้เวลามาก การใช้เวลามากจะเป็นการฝึกฝนตนเองให้ไม่ต้องทำงานเร่งรีบแบบภาวะปัจจุบัน

ที่มา :

1. แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. “เมี่ยงคำ” วัฒนธรรม. ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2558) 58-64.

2. เมี่ยงคำ สืบค้นวันที่ 30 มีนาคม 2558 จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pinkyprettypatty&group=2

3. เมี่ยงคำ สืบค้นวันที่ 30 มีนาคม 2558 จาก http://www.tlcthai.com/education/news-teen/73942.html