Category Archives: ประเพณีและวัฒนธรรมไทย

พิธีแห่นางแมวขอฝน

พิธีแห่นางแมวขอฝนหากพื้นที่ใดเกิดสภาวะแห้งแล้งไม่มีฝนตก ทำให้ชาวนา ชาวสวนไม่มีน้ำใช้จึงประสบความเดือดร้อนทำให้ผลผลิตจำพวกข้าว ผลไม้ต่างๆ ที่ปลูกไว้ไม่ออกดอกผลต้นไม้แห้งตายเพราะไม่มีน้ำ ที่เกิดจากธรรมชาติจึงมีพิธีแห่นางแมวซึ่งเป็นความเชื่อแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะคนโบราณในภาคอีสาน

ความเชื่อที่ใช้สัตว์ประเภทแมว นำมาแห่ขอฝน เพราะแมวจะเป็นสัตว์ที่กลัวน้ำและคนโบราณเชื่อว่าแมวเป็นตัวทำให้แล้งและไม่ชอบฝนเมื่อฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ชาวอีสานถือเคล็ดว่าแมวร้องในเวลาฝนตกจะเป็นเหตุให้ฝนตกจริงๆ จึงได้นำแมวมาขัง โดยใส่กระบุง ตระกร้า หรือเข่ง กระบุงจะปิดหรือเปิดฝาก็ได้ ถ้าปิดต้องให้นางแมวถูกน้ำจึงจะถูกตามประเพณี

การนำแมวมาแห่ขอฝน เกษตรกรจะนำแมวตัวเมียพันธุ์สีสวาดมีรูปร่างปราดเปรียว สวยงาม 1-3ตัว ที่ใช้พันธุ์นี้เพราะมีสีเดียวกับเมฆก่อนที่จะนำแมวใส่กระบุงผู้อาวุโสที่สุดจะพูด “นางแมวเอย …ขอฟ้าขอฝน ให้ตกลงมาด้วยนะ” และมีผู้หญิงร่วมพิธีแห่ ซึ่งจะผัดหน้าขาว ทัดดอกไม้สดดอกโตๆ ขบวนแห่จะร้องรำทำเพลงที่สนุกสนานเฮฮา  เมื่อขบวนแห่ถึงบ้านไหนแต่ละบ้านจะนำน้ำมาสาด และต้องออกมาต้อนรับอย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าแมวจะโกรธและจะบันดาลไม่ให้ฝนตกลงมา ชาวบ้านมีความเชื่อว่าถ้าแห่นางแมวแล้วฝนจะตก ภายใน 3 วันหรือ 7 วัน  นอกจากนี้ พิธีแห่นางแมวขอฝน จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในหมู่บ้านให้แน่นแฟ้นขึ้นเนื่องจากจะต้องมีการช่วยเหลือกันในการประกอบพิธีอื่นๆ อีกด้วย
Image[1]

รายการอ้างอิง

ไตรรงค์ ปิมปา คนชอบน้ำ.  ประเพณีแห่นางแมว อ้อนวอนขอฝน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2558 จาก http://202.129.59.73/nana/legend/cat/cat.htm

 

เวียนเทียน

เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชน หรือของชาวพุทธ ปีละ 3 ครั้ง คือ วันมาฆะบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาฬาหบูชา ที่จะต้องไปเวียนเทียนตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ระลึกถึงคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประนพเกล้าด้วยดอกไม้ ธูปเทียน จุดไฟโคม เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ บางคนก็ถือศีล 5 หรือ ศีล 8 ตามความศรัทธาของตัวเอง

ท่านรู้ไหมเวลาเวียนเทียนให้ท่องอะไรบ้าง ขณะที่เดินเวียนเทียนนั้น ผู้เขียนได้สอบถามผู้ที่ได้บวชชีอยู่กับวัดให้ภาวนาขณะเวียนเทียนว่า

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู, อะนุตตะโร ปุริสะ -ธัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา, โย อิมัง โลกัง สะเทวะกัง สะมาระกัง สะพรัหมะกัง, สัสสะมะณะ พราหมะณิง ปะชัง สะเทวะมะนุสสัง สะยัง อะภิญญา สัจฉิกัตวา ปะเวเทสิ, โย ธัมมัง เทเสสิ อาทิ -กัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณัง, สาตถัง สะพยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พรัหมะ -จะริยัง ปะกาเสสิ สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ –วิญูหิ  สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย, อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะติ

สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กอยู่ เมื่อถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนาทางโรงเรียนได้เชิญชวนให้เด็กนักเรียนมารวมตัวกันที่วัดที่ตัวเองเรียนอยู่ ให้เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ก่อนที่จะเวียนเทียนจะมีพระออกมาเทศน์ความสำคัญในวันนั้น ๆ ให้ทราบ และได้กล่าวคำภาษาบาลีและแปลงเป็นภาษาไทยภายหลัง แล้วเริ่มเวียนเทียนได้

ราชการให้หยุดในวันสำคัญนี้ เพื่อให้เราได้ทำบุญใส่บาตรให้บรรพบุรุษของเราที่ล่วงลับไปแล้ว แต่บางคนไม่ทำอะไรเลย เอาแต่นอนตื่นสายไม่สนใจ หรือไม่ก็เอาแต่เที่ยวเตร่ ช่างน่าเสียดายในการได้ทำบุญในวันสำคัญนี้

กินดอง ประเพณีงานแต่งงานภาคอีสาน

เดือนพฤษภาคมนี้เป็นเดือนที่มีฤกษ์ดีสำหรับสาวบรรณารักษ์ของชาวสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา เพราะมีอยู่สองสาวที่เข้าพิธีแต่งงานในวันที่ 1 และวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นสองงานสองสไตล์เพราะสาวหนึ่งจัดที่ระยองในพิธีแบบภาคกลางมีรดน้ำสังข์ ในขณะที่อีกสาวเป็นสาวอีสานจากจังหวัดอุบลราชธานี เลยเป็นการกินดอง บายศรีสู่ขวัญตามแบบไทอีสานบ้านเฮา

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปงานแต่งงานที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อร่วมพิธีในวันสำคัญและได้มีโอกาสช่วยถ่ายรูปในวันสำคัญนี้ด้วย เป็นงานที่เรียกได้ว่าจัดในแบบพื้นบ้านประยุกต์โดยแท้ คืนวันสุกดิบ (ก่อนวันงาน) ญาติพี่น้องจะมาช่วยกันที่บ้านงาน ทั้งจัดเตรียมสถานที่ ทำพานบายศรี ทำกับข้าวกับปลาเลี้ยงกัน สมัยก่อนตามชนบทอีสานจะมีการล้มวัวล้มควายเพื่อจัดทำกับข้าวเลี้ยงกันในงานบุญงานมงคล แต่สมัยใหม่นี้ไม่ได้ทำกันถึงขนาดนั้นแล้ว จะใช้วิธีจ้างทีมโต๊ะจีนหรือโต๊ะไทยมาทำกับข้าวเลี้ยงแขกกันในงานเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการประยุกต์เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เจ้าภาพจะได้ไม่เหนื่อยมากและสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้

IMGP2937

Continue reading กินดอง ประเพณีงานแต่งงานภาคอีสาน

พิธีสรงน้ำพระและรดน้ำ ขอพรผู้อำนวยการสำนักหอสมุด 10 เมษายน 2558

วันที่ 10 เมษายน 2558 พวกเราชาวสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจัดพิธีสรงน้ำและรดน้ำ ขอพรผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ด้วยบรรยากาศแห่งความอบอุ่น ชื่นมื่น คลอด้วยเสียงเพลงวันสงกรานต์  แต่เสียงหัวเราะ แห่งความสนุกสนาน ดูจะดังกว่า และทุกคนมีแต่รอยยิ้ม

สงกรานต์ภาคเหนือ

เดือนนี้ก็เข้าเดือนเมษายน ใกล้จะถึงวันสงกรานต์แล้ว และเทศกาลสงกรานต์ที่ภาคเหนือก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของใครหลาย ๆ คน  เทศกาลสงกรานต์ภาคเหนือเรียกว่า “ปี๋ใหม่เมือง” ซึ่งไม่ได้มีแค่การสาดน้ำกันสนุก ๆ เท่านั้น แต่ปี๋ใหม่เมืองยังเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนล้านนา มีกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำมากมายเริ่มตั้งแต่

13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขารล่อง” หมายความว่า อายุสิ้นปีหมดไปอีกปี ในวันนี้จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด  ใส่เสื้อผ้าที่เป็นเสื้อผ้าใหม่  นำพระพุทธรูป พระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังต่างๆ มาชำระหรือสรงด้วยน้ำอบ น้ำหอมหรือน้ำขมิ้นส้มป่อย  และจะมีการยิงพลุ จุดประทัด หรือยิงสลุตที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ที่เรียกว่า “สะโป๊ก”

14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเน่า” เป็นวันที่ห้ามพูดคำหยาบคาย ไม่ควรด่าทอ สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่า จะอับโชคไปทั้งปี ในวันนี้ชาวบ้านจะไปขนทรายเข้าวัด เพื่อกองรวมกันทำเป็นเจดีย์  การขนทรายเข้าวัดนี้ ถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าของตนออกจากวัด

15 เมษายน จะเรียกว่า “วันพญาวัน” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่ เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนา  ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานไปทำบุญถวายพระตามวัด   อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนในตอนบ่ายจะมีการไปดำหัวหรือไปคารวะผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติพี่น้อง ผู้อาวุโส หรือผู้ที่เคารพนับถือเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษอันเนื่องจากที่อาจได้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่อท่านเหล่านั้น

วันที่16 เมษายน เรียกว่า วันปากปี วันนี้จะมีการสะเดาะเคราะห์ บูชาเทียนเพื่อเป็นสิริมงคล และถ้าครอบครัวใดยังไม่ได้รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ก็จะทำกันในระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 18 ตามแต่สะดวก

สงกรานต์เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติมาเนิ่นนาน ขอให้ทุกคนมีความสุขในเทศกาลสงกรานต์นี้

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2557

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2557 ใน 7 สาขา จำนวน 76 รายการ

นายชาย นครชัย อธิบดีสวธ. เผยว่าสาเหตุที่ต้องมีการประกาศให้ภูมิปัญญาดังกล่าวเป็นมรดกของชาตินั้น เนื่องจากต้องการให้สังคมรับรู้และช่วยกันปกป้องคุ้มครองมิให้ภูมิปัญญาดังกล่าวสูญหาย รวมถึงผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก

สำหรับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เสี่ยงต่อการสูญหาย ถูกขึ้นทะเบียนประจำปี 2557 ประกอบด้วย

  1. สาขาศิลปะการแสดง อาทิ เค่ง เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงนา แตรวง หนังประโมทัย เป็นต้น
  2. สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม อาทิ ผ้าทอเกาะยอ รูปหนังใหญ่ งานตีทองคำเปลว เป็นต้น
  3. สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน อาทิ นิทานนายดัน ตำนานชาละวัน ตำนานพญากงพญาพาน ตำรานรลักษณ์ เป็นต้น
  4. สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย อาทิ แนดข้ามส้าว เสือข้ามห้วย อีตัก แข่งเรือ ตีไก่คน เป็นต้น
  5. สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล อาทิ ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี ประเพณีลากพระ การแต่งงานแบบไทย เป็นต้น
  6. สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล อาทิ ข้าวต้มมัด เมี่ยงคำ เป็นต้น
  7. สาขาภาษา อาทิ ภาษาผู้ไทย ภาษามอแกน ภาษาแสก เป็นต้น

ทั้งนี้ ติดตามประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2557 โดยละเอียดได้ที่ http://www.culture.go.th/thai/images/stories/news/090957/01.pdf

“เมี่ยงคำ” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

เมี่ยงคำ (Leaf-Wrapped Bite Size Appetizer) อาหารเรียกน้ำย่อย ม้วนห่อด้วยใบไม้ ใช้กัดกินเป็นคำ ๆ ไป อาหารเรียกน้ำย่อย หรือ appetizer นั้น คนไทยเรามิได้กินก่อนอาหารมื้อหลักอย่างฝรั่ง เป็นของกินเล่นระหว่างมื้อที่เรียกว่า ของว่าง หรือ เครื่องว่าง

เมี่ยงคำเป็นอาหารไทยโบราณ ดังปรากฏในบทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเรือเครื่องว่างของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า

“เมี่ยงคำน้ำลายสอ เมี่ยงสมอเมี่ยงปลาทู”

ในปี พ.ศ. 2557 กระทรวงวัฒนธรรมประกาศให้ “เมี่ยงคำ” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโสด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ให้ข้อคิดเรื่องธรรมชาติ-จักรวาล ว่า คนตะวันตกกับคนตะวันออกมองความหมายคำนี้ต่างกัน คือ Continue reading “เมี่ยงคำ” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

ไปเปียกน้ำกันเถอะ

ทุกๆ ปี ดิฉันจะเดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อไปฉลองสงกรานต์และไปเล่นน้ำสงกรานต์ โดยเฉพาะปีนี้ ดิฉันวางแผนไว้แล้วค่ะ วันสงกรานต์ปีนี้ อยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2558 ซึ่งตามที่เราทราบๆ กันอยู่ว่า วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ และเป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ  วันที่  14 เมษายน เป็นวันเนา ถือเป็นวันครอบครัว และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก และเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่ รายละเอียดของเรื่องวันสงกรานต์ติดตามได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรมค่ะ

สำหรับกิจกรรมในวันสงกรานต์ของดิฉัน เช้าดิฉันไปทำบุญที่วัด  ทรงน้ำพระ และรดน้ำผู้สูงอายุ และเล่นน้ำสงกรานต์บริเวณวัด  ทางวัดจะจัดงานทุกปี  เป็นจุดศูนย์รวมของชาวบ้านทุกคนที่อยู่ในหมู่บ้าน จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร   ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกัน ทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม และ ศาสนา   การใช้น้ำรดให้แก่กันเป็นความชุ่มชื่น  คลายความร้อน และขอพรจาก บิดา มารดา ปู่ยา ตา ยาย การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ การสร้างความสามัคคีในชุมชน  การร่วมกันทำบุญ ก่อพระเจดีย์ทรายและเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน นอกจากนี้ยังสร้างความรู้สึกผูกพันกลมเกียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน   หลังจากนั้นก็จะช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอาราม และกลับบ้านมาทำความสะอาดบ้านของดิฉันต่อค่ะ

ทุกท้านที่กลับบ้านตอนสงกรานต์มาแบ่งปันประสบการณ์วันรวมญาติกันบ้างนะคะ