ความกตัญญู ๘ น คืออะไร

สงกรานต์ปีนี้ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๘ ผู้เขียนถือโอกาสหลบลมร้อน และหลีกหนีรถติด ไปทำบุญ ไหว้พระ ที่วัดสามพระยาวรวิหาร (Wat Sampaya Worawithan) ตั้งอยู่ซอยสามเสน ๕ ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) สิริอายุ ๗๐ พรรษาเป็นเจ้าอาวาส

วัดสามพระยาฯ นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมภายในโบสถ์และวิหารที่สวยงามแล้ว ยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระประธานที่ศักดิ์สิทธิ์มากถึง ๓ องค์ คือ “ หลวงพ่อพระพุทธเกสร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางพระพุทธเจ้าชนะมาร ประดิษฐานเอยู่ในพระอุโบสถ “หลวงพ่อพระนอน” เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ปางโปรดอสุรินทราหู “หลวงพ่อพระนั่ง” เป็น พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ชาวบ้านเรียก “หลวงพ่ออุ้มบาตร” เป็นพระประจำวันของคนที่เกิดวันพุธกลางคืน พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าของวัดสามพระยา เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ถ้าใครได้ไปกราบไหว้ขอพรแล้ว จะมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง มีความก้าวหน้า ชนะศัตรูและสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง เป็นที่รักแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

หลังจากทำบุญไหว้พระ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปร่วมสวดมนต์ และรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระอาจารย์ที่สอนปฏิบัติธรรม ชื่อพระอาจารย์อุดรฯ ที่อาคารปฏิบัติธรรมซึ่งมีอุบาสก-อุบาสิกาปฏิบัติธรรม ๑๙ คน เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของไทย พระอาจารย์ได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง “ความกตัญญู”


พ่อและแม่ ผู้ให้กำเนิดชีวิตอีกชีวิตหนึ่งขึ้นมา วันที่ลูกเกิดมาลืมตาดูโลก เป็นวันที่พ่อแม่ตื่นเต้น รอคอย และปลาบปลื้มยินดีเป็นที่สุด ไม่เพียงเท่านี้พ่อและแม่ยังปรารถนาให้ลูกของตนได้เกิดมาสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ท่านเป็นยิ่งกว่าพ่อแม่ เป็นครูคนแรกของชีวิต พ่อแม่ทะนุถนอม พร่ำสอน การนอน การกิน การขับถ่าย การนั่ง การยืน การเดิน การพูด ฯลฯ ท่านมอบและสนับสนุนสิ่งที่ดีทีสุดให้กับลูกเสมอ เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้ มีประสบการณ์และพัฒนาการที่ดี มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น มีความเมตตากรุณาต่อผู้ด้วยโอกาสกว่า รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีของครอบครัว ของสังคม
ในขณะที่ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ พ่อแม่ก็เริ่มแก่ชราลงเรื่อยๆทุกวัน หน้าที่สำคัญของลูก สามารถตอบแทนพระคุณของพ่อและแม่ได้ตลอดเวลา ทำหน้าที่ของลูกที่ดีให้สมบูรณ์ตามวัยของตนเอง เช่น เมื่อเราเป็นเด็ก ก็ตั้งใจเรียนหนังสือ เป็นเด็กดี และเชื่อฟังคำสั่งสอนของคุณครูและพ่อแม่ เมื่อเราโตขึ้นเรียนจบมีงานทำมีรายได้เป็นของตนเอง หน้าที่สำคัญของลูกตอนนี้ก็คือ การกลับไปเอาใจใส่เลี้ยงดูพ่อ-แม่ ให้มีความสุขสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจเช่นกัน
พระอาจารย์อุดรฯ ยังให้บทสรุปข้อคิดในการฟังพระธรรมเทศนาในวันนี้ว่า

ลูกที่ดีมีน้ำใจ ต้องรู้จักความกตัญญู ๘ น

๑. นึกนึกถึงเรื่องดีๆ ที่พ่อแม่ท่าน เคยเล่า
๒. นึกนึกถึงนม น้ำ และข้าว ที่พ่อแม่ท่าน เคยป้อน
๓. นึกนึกถึงที่นอน ที่พ่อแม่ท่าน เคยปู
๔. นึกนึกถึงที่อยู่ ที่พ่อแม่ท่าน เคยจัดหา
๕. นึกนึกถึงการศึกษา ที่พ่อแม่ท่าน ส่งเสีย
๖. นึกนึกถึงคู่ผัวตัวเมีย ที่พ่อแม่ท่าน สนับสนุน
๗. นึกนึกถึงเงินทุน ที่พ่อแม่ท่าน ให้โดยไม่คิด
๘. นึกนึกถึงชีวิต ที่พ่อแม่ท่าน เลี้ยงดูเรามาให้เป็นคนดี

ตลอดเวลาที่ฟังพระธรรมเทศนา ผู้เขียนรู้สึกคิดถึง พ่อกับแม่มากๆเลย ‘ คิดอยู่ในใจ’…… เหมือนกับว่าพระอาจารย์จะหยั่งรู้จิตใจของญาติโยมในที่นี้ พระอาจารย์ท่านกล่าวเอ่ยขึ้นว่า ……อ้าว…..โยม…. พ่อแม่ใครยังมีชีวิตอยู่บ้าง? มีอุบาสก อุบาสิกา ส่วนหนึ่งยกมือขึ้น ……โยม …….พ่อแม่ใครไม่มีชิวิตอยู่แล้วบ้าง?…… มีอุบาสก อุบาสิกา อีกส่วนหนึ่งยกมือขึ้น รวมทั้งผู้เขียนด้วย พระอาจารย์แสดงธรรมต่ออีกว่า “การเกิด แก่ เจ็บ ตาย” “เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ” ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้มี “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” เป็นความจริงแท้แน่นอน
สุดท้ายพระอาจารย์ยังมีคำคมให้กลับไปเตือนความทรงจำอีกว่า “ยามอยู่ให้อุปัฏฐาก ยามจากให้อุปถัมภ์” ความหมายก็คือ เมื่อพ่อ-แม่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ทะนุบำรุงเอาใจใส่ดูแลเลี้ยงดูเป็นอย่างดี เหมือนกับที่พ่อ-แม่ได้ทะนุถนอมเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ และเมื่อพ่อ-แม่ไม่มีชีวิติอยู่แล้ว ก็ให้ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ท่านตามกาลเวลา และโอกาสที่สมควรนั่นเอง
Jed.@tu.ac.th