เพลงเพื่อชีวิต

ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบฟังเพลงมาก ๆ และฟังทุกๆแนวเพลง ทั้งลูกทุ่ง สตริง หมอลำ ลำตัด ลิเก หนังตะลุง เพลงฉ่อย เพลงสากล เพลงร๊อค เพลงคลาสสิค แม้กระทั่งบทสวดทั้งของ พุทธ คริสต์ อิสลาม ก็ชอบ เพียงแต่จะเลือกฟังในห้วงเวลาที่แตกต่างกันเท่านั้น ในที่นี้ผู้เขียนขอนำเสนอบทเพลงเพื่อชีวิตที่เคยฟังมาตั้งแต่ในวัยเด็ก ซึ่งเป็นบทเพลงที่แตกต่างจากเพลงลูกทุ่งหรือเพลงแนวอื่น อย่างมากในยุคนั้น ทั้งท่วงทำนอง เนื้อหา และดนตรีที่มีมากหลากหลายชิ้น จนทำให้เกิดจินตนาการตามคำร้องทำนองและเนื้อหาของบทเพลง เกิดเป็นความชอบและหลงไหลในเพลงเพื่อชีวิต ตลอดมา

เพลงเพื่อชีวิตเพลงแรกที่ได้ฟัง ชื่อเพลง เมดอินไทยแลนด์ ของวงคาราบาว ความรู้สึกแรกที่ได้ฟัง คือรู้สึกถึงความไพเราะของเสียงขลุ่ยมาก ๆ จนอยากจะเป่าขลุ่ยเป็นให้ได้ในตอนนั้น ต่อมาก็ท่วงทำนองที่ไพเราะและสนุก ส่วนเนื้อหาในขณะนั้นด้วยยังเยาว์นัก จึงยังไม่ได้รู้สึกรู้สา สักเท่าไหร่ เพียงแต่ร้องตามกันได้ บางเพลงก็ร้องได้ทั้งเพลง บางเพลงก็ร้องได้เพียงท่อนฮุค ซึ่งในช่วงฮุคของแต่ละเพลงมักจะง่ายต่อการจดจำ และนำไปร้องกันในหมู่เพื่อน ๆ

ต่อมาก็ได้ฟังเพลงหลาย ๆ ชุดของคาราบาว และของวงอื่น ๆ ซึ่งในขณะนั้นรู้สึกว่าชอบทุกเพลงและเริ่มเข้าใจเนื้อหาเพิ่มขึ้น ด้วยว่าเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น และเริ่มเล่นกีตาร์ตามรุ่นพี่ เพลงเพื่อชีวิตเหล่านี้จึงฝังในหัวแทบจะโดยอัตโนมัติ ระยะหลังก็ได้ย้อนกลับไปฟังเพลงของคาราบาวในยุคก่อนและวงคาราวานซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพี่ใหญ่ของวงการเพลงเพื่อชีวิตในประเทศไทย และเพลงของวงอื่น ๆ อีกหลาย ๆ วงซึ่งในเวลานั้นมีจำนวนมากขอยกชื่อศิลปินเหล่านั้นมาเท่าที่จะจดจำได้ เริ่มจากวง คาราวาน,คาราบาว,คนด่านเกวียน,คันไถ,โคไท,กะท้อน,ซูซู,คีตาญชลี,โฮป,อี๊ด ฟุตบาท,แฮมเมอร์,พงสิทธิ์ คัมภีร์,พงษ์เทพ กรโดนชำนาญ,อินโดจีน,มาลีฮวนน่า,ด้ามขวาน,แก้ว ลายทอง,จรัล มโนเพชร,ฤทธิพร อินทร์สว่าง,ศุ บุญเลี้ยง,หนู มิเตอร์,กงล้อ,กรรมาชน, เคียส,นิรนาม,ประจัญบาน,สิมิลัน,อมตะ,เอราวัณ,สันติภาพ,นิด ลายสือ ,ฌามา,สันกาลา, พิทักษ์ เสริมราษฎร์  เป็นต้น ซึ่งบางวงก็ยังคงผลิตผลงานและรับเล่นตามงานต่าง ๆ แต่หลายวงก็ได้แยกย้ายและเลิกรากันไปตามช่วงวัน วัย และความนิยมของผู้คน มีเพียงผู้เริ่มต้นเพียงวงเดียวที่ยังยืนหยัดผลิตผลงานและรับงานตามที่ต่าง ๆ อยู่เสมอมาไม่เคยขาดหายและยังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามอยู่เสมอ คือ วงคาราวาน ซึ่งนำโดย น้าหงา สุรชัย จันทิมาธร ดังเกียรติที่เหล่านักดนตรีเพื่อชีวิตในเมืองไทยต่างยกย่องให้เป็น อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต

เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิต มีความหมายตรงตัวคือสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม โดยเฉพาะคนชนขั้นล่าง ชาวนาชาวไร่ ผู้ด้อยโอกาส คนถูกกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้า นายทุน นักเลง นักการเมือง ข้าราชการฉ้อฉล เป็นต้น และยังรวมถึงการใช้ชีวิตศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นก็ถูกถ่ายทอดออกมาจากสมองของนักเพลงเพื่อชีวิต ออกมาสู่สังคมภายนอกในรูปของบทเพลงที่สามารถรับรู้ได้ด้วยภาษาที่เรียบง่าย ผ่านท่วงทำนองที่ไพเราะเร้าใจ และซาบซึ้ง ขึ้นอยู่กับว่าศิลปินจะให้ออกมาในรูปแบบใด ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางธรรมชาติ สรรพสัตว์ ป่าได้ ภูเขา ทะเล สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ได้ถูกศิลปินเพื่อชีวิตนำมาบอดเล่าผ่านบทเพลงให้ผู้คนได้รับรู้ บางครั้งยังหยิบเอาเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวมาเรียงร้อยเป็นบทเพลงถ่ายทอดสู่ผู้ฟังด้วยความเศร้าสะเทือนอารมณ์ก็มีมาก

ด้วยเนื้อหาสาระที่ศิลปินเพื่อชีวิตสะท้อนออกมาให้สังคมได้รับรู้ แม้ในสิ่งที่สังคมไม่เคยรู้เห็นมาก่อนทำให้ผู้ได้รับผลกระทบ เกิดอาการรับไม่ได้กับเนื้อหาในบทเพลง ดังเช่น เพลงของวงคาราบาว ที่ออกมาทุกชุด จะต้องมีเพลงที่ถูกแบนโดย กบว.(รัฐบาลทุกยุค) ห้ามออกอากาศทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ โดยเด็ดขาด ด้วยข้อหา เพลงมีเนื้อหายั่วยุ ทำให้เกิดความเกลียดชัง ต่อรัฐบาล หรือลักษณะที่จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เพลงของวงคาราบาวจึงยิ่งทำให้ผู้คนอยากรับรู้รับฟังกันมากขึ้น อันส่งผลต่อยอดจำหน่ายที่สูงลิ่วของวงคาราบาวทุกชุด

เพลงเพื่อชีวิตในยุค 30 ปีที่ผ่านมาถือว่ารุ่งเรืองมากในประเทศไทย สามารถดูได้จากยอดขายเทป แผ่นเสียง และซีดี ของทุกวงตามสัดส่วนความนิยม และอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถพิสูจน์ถึงความนิยมของเพลงเพื่อชีวิตในขณะนั้นคือ “ผับ”เพราะในขณะนั้นผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด นักดนตรีเพื่อชีวิตตามร้านอาหารมีเป็นจำนวนมาก ผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด นักศึกษาและวัยรุ่นในยุคนั้นใช้ศาสตร์และศิลปะด้านนี้ในการหาเงินเรียน กินและเที่ยว กันอย่างสะดวกสบาย ได้ทั้งเงิน ประสบการณ์ และความสนุกในรูปแบบหลากหลายแตกต่างกัน อีกทั้งวัยรุ่นชายในยุคนั้นมักจะปล่อยผมยาวเพื่อทำตามอย่างศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ ด้วยว่าศิลปินส่วนใหญ่จะปล่อยผมยาว

เพลงเพื่อชีวิตและวงดนตรีเพื่อชีวิตเริ่มซาลงและจางหายจากเมืองไทยเมื่อราว 10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเพลงเพื่อชีวิตถูกผนวกเข้ากับเพลงลูกทุ่ง กลายเป็นเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต จากแนวคิดของเจ้าของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย ซึ่งมีเพียง 2 ค่าย ซึ่งมีอิทธิพลต่อวงการเพลงในบ้านเราเป็นอย่างมาก ทำให้เนื้อหาเพลงเพื่อชีวิตลดดีกรีความแรงลงไปมาก จนแทบไม่เหลือให้พูดได้ว่าเป็นบทเพลงเพื่อชีวิต อีกต่อไป โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของหนุ่มสาวและความรัก ๆ ใคร่ ๆ คล้ายกับเพลงลูกทุ่ง จนผู้เขียนรู้สึกว่าไม่สามารถใช้เพลงเพื่อชีวิตในยุคนี้ สำหรับฟังเพื่อผ่อนคลายหรือ จะใช้สำหรับการนำหรือชักจูงผู้คนไปใช้ในการลุกฮือขึ้นต่อสู้เรียกร้องบางสิ่งจากรัฐบาลได้อย่างในอดีตได้อีกแล้ว อีกทั้งศิลปินเพื่อชีวิตจริง ๆ ก็หายไปจากวงการแทบหมดสิ้น เหลือเพียงผู้ที่มีความสามารถเปี่ยมล้นจริง ๆ เท่านั้นที่จะยืนหยัดอยู่ได้กับแฟนเพลงกลุ่มเดิม ซึ่งเหลือไม่มากนัก ซึ่งคงเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติที่ว่าทุกอย่างมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป นั่นเอง

ในที่นี้ผู้เขียนไม่กล้านำลิงค์เพลงของวงหรือศิลปินต่าง ๆ ที่กล่าวถึงมาให้ผู้อ่านได้ลองฟังได้ ด้วยอาจจะติดลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ แต่ท่านผู้อ่านก็สามารถพิมพ์ชื่อวงดนตรีเหล่านี้แล้วคลิกฟังได้จากกูเกิล ได้แทบทุกเพลง และผู้เขียนก็หวังว่าเรื่องนี้จะไปสะกิดต่อมอยากฟังเพลงเพื่อชีวิต ของใครบางคนได้บ้าง เหมือนกับผู้เขียน ที่ได้รับแนวคิดและแรงบันดาลใจในเรื่องต่าง ๆจากเพลงเและศิลปินเพื่อชีวิตมามากมาย  เช่นด้านความขี้โกงของนักการเมืองไทย ในทุกยุค ที่หวังแค่คะแนนเสียง และผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติ ความคดโกงของข้าราชการกังฉินที่สมคบกับนักการเมืองนักธุรกิจขี้โกงฉ้อราษฎร์บังหลวง การใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า การทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การสัมปทานป่าไม้ น้ำมัน และแร่ธาตุ แก่นายทุน ขี้โกง การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับการศึกษาในแหล่งทุรกันดารห่างไกล ที่พวกข้าราชการและนักการเมืองไม่อยากเข้าไปพัฒนา เหล่านี้ เป็นต้น  นี่คือส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับรู้และเป็นแรงบันดาลใจจากเพลงและศิลปินเพื่อชีวิตเหล่านี้  และหากทุกคนได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ ในอนาคตเราจะได้ช่วยกันปกป้องดูแลทรัพยากรของชาติหรือดูแลคนอื่นๆ รอบตัวเรา และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาได้บ้าง ไม่มุ่งหวังแต่เรื่องของตนเองเพียงอย่างเดียว