จากคัมภีร์พระไตรปิฏกสู่ใบลาน

11245334_488000238021355_276803390_nสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22-23 ม.ค 2558  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังการเสวนาทางวิชาการเรื่อง นานาสาระจากคัมภีร์ใบลาน ซึ่งทางหอสมุดแห่งชาติ ได้จัดขึ้น มีท่านผู้ทรงความรู้ทั้งฆารวาสและบรรพชิตเข้าร่วมเสวนาหลายท่าน ทั้งนักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานได้พูดถึงประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการในแต่ละยุคและแต่ละสมัย เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงพระชนมายุ  ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่ดีแล้วว่า พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนหลักธรรม แก่พระสาวกทั้งหลาย โดยใช้มุขปาฐะ พระสาวกรุ่นแรกได้บรรลุคุณธรรมขั้นต่าง ๆ ตลอดถึงเป็นพระอรหันต์  จำนวนมาก

 หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  พระองค์มิได้ทรงแต่งตั้งให้ใครปฏิบัติหน้าที่แทน  พระองค์  นอกจากพระธรรมวินัยเท่านั้น แต่ก็ยังมีพระภิกษุบางรูปที่ยังมีกิเลส ย่อมมีความคิดเห็น   แตกต่างไปจากพระธรรมวินัยโดยใช้ความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก  จึงเป็นเหตุให้เกิดมีการทำ สังคายนาขึ้น

สังคายนา คืออะไร  เพื่อทำความเข้าใจให้กระจ่างขึ้น ความหมายของสังคายนา คือ การสะสางตรวจสอบ  และร้อยกรองพระธรรมวินัยไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการจดจำ และทำความเข้าใจในหลักธรรมที่พระองค์ทรงเสด็จไปเทศนา ให้แก่บุคคลต่าง ๆ  ตลอด 45 พรรษา

สังคายนาครั้งที่ 1
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว    7  วัน พระภิกษุบางรูปที่ยังมีกิเลส  พากันเศร้าโศกเสียใจ  มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อสุภัททะ  ได้กล่าวปลอบใจว่า อย่าเศร้าโศกเสียใจไปเลย  พระองค์ปรินิพพานไปแล้วก็เป็นการดี  ต่อไปพวกเราจะทำอะไร ก็ทำได้ตามความชอบใจ ไม่มีใครมาห้ามปราม  ในสมัยที่พระองค์มีพระชนมายุ  ทรงบอกว่าสิ่งนี้ควรทำ และสิ่งนี้ไม่ควรทำ พระมหากัสสปะเถระ   เมื่อได้ทราบ เกิดความสลดใจ  จึงดำริว่า นี้เพียงแค่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ได้เพียง 7 วัน เท่านั้น เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว  ต่อไปภายในภาคหน้าจะไม่ยิ่งกว่านี้หรือ จึงได้เรียกประชุมสงฆ์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย จำนวน  500  รูป เข้าร่วมประชุม  มีพระมหากัสสะปะเป็นประธานฝ่ายสงฆ์    และได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอชาตศัตรู สถานที่ทำสังคายนา คือ ถ้ำสัตตบรรณคูหา  ข้างภูเขาภารบรรพต  เมื่องกรุงราชคฤห์  ณประเทศอินเดีย  ใช้เวลาในการทำเป็นเวลา 7 เดือน  จึงสำเร็จ พระมหากัสสปะ  เป็นผู้ถาม    พระอุบาลี เป็นผู้ตอบในส่วนของพระวินัย  และพระอานนท์ เป็น เป็นผู้ตอบในส่วนของพระสูตรและพระอภิธรรม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 นี้ ไม่ปรากฏว่า มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร  ใช้มุขปาฐะ ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา

สังคายนาครั้งที่ 2
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  100  ปี (พ.ศ. 100)    มีพระยสกากัณฑบุตรเป็นผู้นำมีพระสงฆ์เข้าร่วมประชุม   700  รูป    ปรารภเรื่องข้อปฎิบัติย่อหย่อน  10  ประการ   ของภิกษุวัชชีบุตร  พระเรวตะเป็นผู้ถาม   พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบ  ใช้เวลาในการกระทำเป็นเวลา  8 เดือน  ทำที่วาลิการาม  เมืองเวสาลี  แคว้นวัชชี  ประเทศอินเดีย ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้ากาฬาโศก ในการทำสังคายนาครั้งนี้ ยังไม่ปรากฏว่า ได้จารึกเป็นอักษรอะไร

สังคายนาครั้งที่  3
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  235  ปี   มีพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นผู้นำมีพระสงฆ์เข้าร่วมประชุม 1,000   รูป   ปรารภเรื่อง พวกเดียรถีร์  คนนอกศาสนามาปลอมบวช  ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช  ทำอยู่เป็นเวลา  9  เดือน จึงสำเร็จ   ทำที่อโศการาม  กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย หลังจากทำสังคายนาเสร็จแล้วได้ส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาตามภูมิภาค ต่างๆ  9  สายด้วยกัน    การทำสังคายนาครั้งนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่า ได้จารึกลงในอักษรอะไร  แต่ภาษาที่ใช้ทำสังคายนา  เป็นภาษามคธ   โดยการใช้ความทรงจำด้วยมุขปาฐะ

สังคายนาครั้งที่  4
การทำสังคายนาครั้งนี้ เป็นการทำของฝ่ายมหายาน  เพียงฝ่ายเดียว  ฝ่ายเถรวาทไม่ได้เข้าร่วมด้วย  พระเจ้ากนิษกะ  กษัตริย์ราชวงศ์กุษาณองค์ที่ 3 ณ เมืองปุรุษ  ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนามหายาน  ทรงสับสนในหลักธรรมที่พระสงฆ์แสดงแตกต่างกัน   พระองค์ทรงปรึกษากับพระปารัศวะ แห่งนิกายสรวาสติวาทิน  ได้รับคำแนะนำ จากพระปารัศวะว่า ให้ทำสังคายนา  โดยพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์  ซึ่งมีพระปารัศวะเป็นประธานสังคายนา  โดยร้อยกรองพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤต  หลังจากทำสังคายนาเสร็จแล้ว ได้จารึกในแผ่นทองแดงและบรรจุลงในพระเจดีย์  การทำสังคายนาครั้งนี้ถือว่าเป็นการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์ อักษร   การทำสังคายนาครั้งนี้ ทำที่  ณ ชาลันธร  แคว้นแคชเมียร์

สังคายนาครั้งที่  5
หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน  433  ปี  (พ.ศ.433 ) ในสมัยพระเจ้าวัฏฏคามนี   มีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน   ทำที่อาโลเลณสถาน  ณ มตเลชนบท  ประเทศศรีลังกา การทำสังคายนาครั้งนี้ ได้มีการจารึกลงในใบลาน  และได้มีการยอมรับในประเทศต่างๆ มีผลทำให้เกิดความเชื่อของชาวพุทธ และถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เนื่องจากคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา  ต่อมาภายหลังนิยมการจารึกบทความต่าง ๆ  ที่สำคัญลงในใบลาน เช่น ตำรายาแพทย์แผนโบราณ  คัมภีร์ต่าง ๆ   เป็นต้น  ความคงทนของใบลาน เมื่อจารึกแล้ว จะอยู่ได้นาน

ทุกวันนี้หอสมุดแห่งชาติได้รวบรวมคัมภีร์ที่จารลงในใบลานจากสถานที่ต่าง ๆ มาทำการอนุรักษ์เพื่อเก็บไว้ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ศึกษาต่อไป

 บรรณานุกรม
วิเชียร   ชาบุตรบุณฑริก.   พุทธศาสน์. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2535.
สุชาติ  หงษา .  ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ:ศยาม, 2550.