แนะนำนักเขียน “กิ่งฉัตร”

kingchat

กิ่งฉัตร เป็นนามปากกาของ ปาริฉัตร ศาลิคุปต (2511 – ) บุตรของ พล.ร.อ.วิเชียร และ องุ่น ศาลิคุปต จบระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสตรีวิทยา และจบปริญญาตรี วารสารศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นนักเขียนที่เรียกได้ว่าเป็นศิษย์เก่าลูกแม่โดมอย่างแท้จริง กิ่งฉัตรเริ่มต้นทำงานครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการปริทรรศน์ ทำอยู่ประมาณ 2 ปีก่อนลาออกมาเขียนหนังสือเป็นอาชีพ

กิ่งฉัตรรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือแทบทุกประเภท ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเขียนหนังสือให้ผู้อื่นอ่านบ้าง จึงเริ่มเขียนเรื่องสั้นเวียนให้เพื่อนร่วมชั้นอ่านตั้งแต่สมัยอยู่ชั้นมัธยมต้น และเขียนมาเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยก็เริ่มส่งบทความและเรื่องสั้นไปลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารบางฉบับ เช่น สตรีสาร แพรวสุดสัปดาห์ ขวัญเรือน โดยใช้นามปากกาว่า ทองหลางลาย ซึ่งปัจจุบันนี้เลิกใช้แล้ว กระทั่งเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย กิ่งฉัตรได้เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรก คือ พรพรหมอลเวง โดยอาศัยนิสัยใจคอของเพื่อนสนิทมาเป็นตัวเอกของเรื่อง เรื่องนี้ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารโลกวลี เมีอปี 2535 และใช้นามปากกาว่า กิ่งฉัตรนับตั้งแต่นั้นมา

แนวการเขียนหนังสือของนามปากกากิ่งฉัตร จะเป็นนวนิยายแนวรักโรแมนติก ปนสืบสวนสอบสวน และท่องเที่ยว หลายเรื่องจะมีการดำเนินเรื่องที่ต่างประเทศเพราะนักเขียนมักจะเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อนำประสบการณ์ที่ได้จากการท่องเที่ยวมาเขียนเป็นนิยายสำหรับแฟนนิยายของเธอ

นวนิยายของกิ่งฉัตรถูกนำไปสร้างเป็นละครและประสบความสำเร็จโด่งดังตั้งแต่เรื่องแรก พรพรหมอลเวง ทางช่อง 7 ดังนั้นเรื่องต่อ ๆ มาจึงมีผู้จัดละครมาจองเพื่อซื้อบทประพันธ์ไปสร้างเป็นละครอยู่เสมอ แม้กระทั่งเรื่องเก่าที่เคยทำเป็นละครแล้วก็เริ่มมีการรีเมคใหม่ให้คอละครรุ่นใหม่ได้เสพงานประพันธ์ของกิ่งฉัตรอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้กิ่งฉัตรจึงกลายเป็นนักเขียนผู้โด่งดัง และกลายเป็นไอดอลให้นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ อยากดำเนินรอยตาม

กิ่งฉัตร มีนามปากกาใหม่อีกนามปากกาหนึ่งคือ อลินา ใช้ในการเขียนเรื่องชุดแนวสืบสวนสอบสวนเบา ๆ กึ่ง ๆ คอมเมดี้ที่เรียกกันว่าแนว Cozy ตัวอย่างนักเขียนแนวนี้คืออาคากะวา จิโร นักเขียนญี่ปุ่นเจ้าของเรื่องมิเกะเนะโกะ โฮมส์ ซึ่งกิ่งฉัตรชื่นชอบเรื่องแนวนี้อยู่แล้วและเคยบอกว่านักเขียนไทยยังไม่มีใครเขียนแนวนี้เลยจึงได้เขียนขึ้นเพื่อนักอ่านที่ชอบแนวนี้เช่นกัน และผลงานล่าสุดในนามปากกานี้เรื่องชุดแนวแฟนตาซีหิมพานต์ ปัจจุบันมีผลงานที่ออกมาในนามปากกาอลินา คือ ชุดสาวน้อยเกวลิน (7 เล่ม) ชุดชมรมคนมีสัมผัสพิเศษ (2 เล่ม) ชุดนวหิมพานต์ (2 เล่ม) และกิ่งฉัตรได้เปิดสำนักพิมพ์ของตนเองเพื่อรองรับงานเขียนในนามปากกา อลินา นี้ ชื่อสำนักพิมพ์ลูกองุ่น ซึ่งนำมาจากชื่อมารดาของเธอเอง

ปัจจุบันนี้ กิ่งฉัตรนอกจากจะเป็นนักเขียนแล้วยังเป็นวิทยากรที่ทำงานร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ไปบรรยายเรื่องลิขสิทธิ์ตามที่ต่างๆ เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้และมีความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ในงานเขียนให้มากขึ้น

สำนักหอสมุดธรรมศาสตร์มีหนังสือของ กิ่งฉัตร ให้บริการด้วยเช่นกัน สมาชิกห้องสมุดสามารถเข้าไปเลือกหยิบยืมอ่านได้ที่ https://koha.library.tu.ac.th/cgi-bin/koha/opac-search.pl?idx=au&q=กิ่งฉัตร

**ขอขอบคุณพี่ปุ้ย กิ่งฉัตร สำหรับรูปภาพประกอบบทความนี้**

รายการอ้างอิง ‘กิ่งฉัตร’ กิ่งก้านโลกวรรณกรรม สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2558 จาก http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9520000081985