ความปลอดภัยในการทำงาน

ท่านคิดว่าท่านมีความปลอดภัยในการทำงาน หรือยัง ลองสำรวจดู เช่น

สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย Unsafe Condition

  • อุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือชำรุด
  • ระบบไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด หรือบกพร่อง
  • วัสดุอุปกรณ์วางไม่เป็นระเบียบ
  • วิธีการทำงานไม่ปลอดภัย
  • สถานที่ทำงานคับแคบหรือจำกัด
  • ขาดการอบรม
  • ขาดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
  • ขาดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนที่อันตราย หรือส่วนที่เคลื่อนไหว
  • สภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย เช่น แสง เสียง ความร้อนหรืออื่นๆ
  • ระบบระบายอากาศไม่เหมาะสม
  • ระบบสัญญาณเตือนอันตรายชำรุด หรือไม่เพียงพอ
  • อื่นๆ

ความจริงแล้วได้มีกฎหมายกำหนดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554  สำหรับหน่วยราชการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 3 วรรค 2 คือ

มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่

  • ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น
  • กิจการอื่นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง จัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในหน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งยังไม่ค่อยมีหน่วยงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัย ได้มีการปฏิบัติตามกฎกระทรวงมหาดไทย เรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการฯ  ได้แก่ การจัดอบรมป้องกันอัคคีภัยเบื้องต้น ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี เพื่อให้บุคลากรได้รับประโยชน์ในการรู้จักป้องกันภัยเบื้องต้นก่อนเกิดเหตุ  รู้จักการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงให้ถูกวิธี  นับได้ว่าเป็นความปลอดภัยในการทำงานอย่างหนึ่ง และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เช่น ที่พักอาศัย หรือสถานที่อื่นๆ  นอกจากนี้ ยังกิจกรรมหนึ่งที่เกี่ยวกับความปลอดภัย คือ การซ้อมหนีไฟภายในอาคารสำนักหอสมุด ท่าพระจันทร์  เนื่องจากอาคารสำนักหอสมุด ประกอบด้วยอาคารชั้นใต้ดิน 3 ชั้น และมีทางหนีไฟหลายด้าน จึงจำเป็นต้องให้บุคลากรและผู้ใช้บริการมีความคุ้นเคยกับเส้นทางการหนีไฟ ซึ่งได้รับความร่วมมือทั้งจากบุคลากรและผู้ใช้บริการเป็นอย่างดี