The 3rd ASEAN Citation Index (ACI) Meeting for Steering Committee

ผู้แทนจาก สกอ. และหัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารไทยพร้อมด้วยตัวแทนจาก 9 ประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
ผู้แทนจาก สกอ. และหัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารไทยพร้อมด้วยตัวแทนจาก 9 ประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558  ที่ผ่านมา  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ได้จัดการประชุม “The 3rd  ASEAN Citation Index (ACI) Meeting for Steering Committee”  ณ โรงแรมวินด์เซอร์ สวีท แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยได้เชิญผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย เพื่อรายงานถึงความก้าวหน้าการจัดทำฐานข้อมูลการอ้างอิงวารสารในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในการจัดประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ได้มาเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมด้วย

เลขาธิการ สกอ. กล่าวเปิดการประชุม
เลขาธิการ สกอ. (คนกลาง)กล่าวเปิดการประชุม

สำหรับ ASEAN Citation Index (ACI)  เป็นฐานข้อมูลประเภท Citation Index ที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2554 เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางในการรวบรวมและบันทึกข้อมูลการตีพิมพ์/ข้อมูลการอ้างอิงของวารสารระดับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นผลงานวิจัยของนักวิชาการของ ASEAN  รวมทั้งข้อมูลการอ้างอิงระหว่างประเทศสมาชิก และค่าดัชนีต่างๆ ของผลงานวิจัยโดยนักวิชาการของประเทศอาเซียน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพวารสารของประเทศในกลุ่มอาเซียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียน และระดับนานาชาติ

ดร.นงเยาว์ เปรมกมลเนตร ผู้ช่วยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยรายงานความก้าวหน้าการจัดทำฐานข้อมูล ACI
ดร.นงเยาว์ เปรมกมลเนตร ผู้ช่วยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยรายงานความก้าวหน้าการจัดทำฐานข้อมูล ACI

แนวคิดในการจัดตั้งฐานข้อมูล ACI  เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย หรือ Thai-Journal Citation Index Centre (TCI) ทั้งนี้ TCI ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

ฐานข้อมูลนี้มีโครงสร้างการบริหารงานโดยมีคณะกรรมการอำนวยการ หรือ Steering Committee ที่ประกอบด้วยผู้แทน 2 คนจากประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศที่เสนอชื่อโดยกระทรวงศึกษาธิการของประเทศนั้นๆ  มาทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนา ACI  โดยจะมีการประชุม Steering Committee ปีละ 1 ครั้งเวียนตามประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ประเทศไทยโดย สกอ. และ TCI ได้จัดการประชุม Steering Committee มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2013, 2014 และ ปีนี้ เป็นปีที่ 3  ประเด็นที่หารือได้แก่  การพัฒนา National Citation Index ของแต่ละประเทศ การพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการ  พัฒนาการของฐานข้อมูล ACI และความยั่งยืนของฐานข้อมูล ACI  เป็นต้น

ขอบคุณภาพโดย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารวารไทย