โครงงาน “How to use library like a boss” จุดประกายนักศึกษารักหนังสือและห้องสมุด

หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์  นอกจากจะเป็นห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตแล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้น้องๆ ได้เรียนรู้และทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย รวมทั้งการเป็นสถานที่ให้น้องๆ ได้คิดและสร้างสรรค์โครงงานใน TU 100  วิชาพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม 

การได้มาห้องสมุดเป็นประจำทุกวัน การได้เดินดูชั้นหนังสือ และได้เลือกหนังสือตามชั้นที่มีหนังสือเรียงกันเป็นระบบ เป็นความสุขอย่างหนึ่งของ“ธีรพัฒน์ งาทอง“ หรือ น้องไซย่า นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาฟิสิกส์ หัวหน้ากลุ่ม 54 TU 100 จนทำให้เกิดเป็นแนวคิดโครงงานของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดโดยมีเพื่อนๆ และน้องๆ อีก 20 กว่าคน ได้แก่ บวรลักษณ์ คุณปริมาส  กฤตพร เล่มสันทัด จักริศา ณ พัทลุง ภา แพรสีเจริญ วิภาดา ทองสุข  ศรัญยา พรหมรักษา ศิริวรรณ ขวดทอง  ณัฐพล สารนอก วีรญา บรรเทาทุกข์  วิทยา วิไลสวัสดิ์  ณสัณห์ หว่อง
พชรพร จรรย์นาฏย์ ธนพงษ์ น้อยแก้ว อับดุลไฮมีน จารง เมธาวี เมฆอ่ำ
วิภวา ปัญญาหอม พลอยไพลิน ศิระโสภณพงศ์ เมธาพร ศรีประมวล
จิณณวัฒน์ วงษ์ประคอง เกียรติศักดิ์ พูนศรี  นัทนิชา เทพมณ  ธัญจิรา มะรินทร์  และศรินทิพย์ เดชวิริยตานนท์  ร่วมกันจัดทำขึ้นในหัวข้อเรื่อง “How to use library like a boss

saiya
ธีรพัฒน์ งาทอง หัวหน้ากลุ่ม 54 TU 100

โครงงานดังกล่าวประกอบด้วยคลิปหนังสั้น และป้ายประชาสัมพันธ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็น การนำอาหารมารับประทานในห้องสมุด การไม่รักษาความสะอาดด้วยการทิ้งขยะไม่ถูกที่ การคุยกันเสียงดัง และการใช้มือถือคุยเมื่ออยู่ในห้องสมุด รวมทั้งการไม่ดูแลรักษาหนังสือของห้องสมุดเพื่อให้น้องรุ่นหลังๆ ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลงานที่กลุ่ม 54 TU 100 ตั้งใจทำเพื่อเป็นสื่อรณรงค์และเชิญชวนให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยกันรักษาและดูแลหนังสือและห้องสมุดของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะห้องสมุดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนมาใช้นั่งทำงาน นั่งอ่านหนังสือ นั่งคุยหลังเลิกเรียน หรือแม้กระทั่งเป็นที่นอนแสนสบายเวลาเหนื่อยจากการเรียน จนได้รับการโหวตในชั้นเรียน และเป็น 1 ในอีกกว่า 10 โครงงานที่จะถูกนำไปเสนอในกิจกรรม “ธรรมศาสตร์วิชาการเพื่อประชาขน”

talk
ตัวอย่างโปรเตอร์ในโครงงานของกลุ่ม 54 TU100

ธีรพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมชอบห้องสมุดธรรมศาสตร์ เพราะมันไม่เหมือนห้องสมุดที่อื่นๆ มันเป็นห้องสมุดที่ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ คือ เป็นทั้งที่มานั่งอ่านหนังสือ มานั่งทำงาน และนอนหลับได้ นอกจากนั้น ห้องสมุดยังมีหนังสือดีๆ หลายเล่ม และมีที่เดียวในประเทศไทยหรืออาจจะเป็นที่เดียวในโลกด้วยซ้ำ เช่น มหาวิทยาลัยของฉัน ที่รวมเรื่องราวของนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ 16 ตุลาฯ สำหรับผลงานที่ทำขึ้น โดยเฉพาะป้ายประชาสัมพันธ์ หวังว่าคนที่เข้ามานั่งอ่านหนังสือและใช้ห้องสมุดจะได้อ่าน และหันมาช่วยกันดูแลหนังสือและห้องสมุดของเรา ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองแต่เพื่อคนอื่นๆ โดยเฉพาะน้องรุ่นๆ ต่อไป และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับห้องสมุดด้วย”
โครงงานใน TU 100 วิชาพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม ล้วนเป็นผลงานนักศึกษาเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “How to use library like a boss” เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ได้นำมาเสนอ ยังมีอีกหลายโครงงานที่น่าสนใจที่สามารถติดตามได้ภายในงาน “ธรรมศาสตร์วิชาการเพื่อประชาชน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2557 นี้ ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คลิปวิดีโอโครงงาน “How to use library like a boss”

  1. How to use library like a boss : The Food
  2. How to use library like a boss:  The Book
  3. How to use library like a boss: The Trash