“ก้าวต่อไปของ มธ.ว่าด้วย EdPEx”

2015_2016_ED_Overview
ภาพจาก http://www.nist.gov/baldrige/publications/education_criteria.cfm

เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ หรือ เรียกสั้นๆ ว่า EdPEx  ย่อมาจาก “Education Criteria for Performance Excellence” เป็นกรอบการพัฒนาคุณภาพการ บริหารจัดการตามแนวทางของเกณฑ์ Malcolm Baldrige National Quality Award: MBNQA ที่เป็นต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ(Thailand Quality Award: TQA) เป็นระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนำมาใช้ และวางเป้าหมายที่นำมาใช้กับทุกหน่วยงานภายในปี 2560

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา มธ.ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ก้าวต่อไปของระบบพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วย EdPEx” ณ ห้องสัมมนา 3 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อให้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ EdPEx ให้แก่ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพจากคณะ/สำนัก/สถาบัน โดยได้เชิญ รศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิบการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากรและนำเรื่องระบบ EdPEx พร้อมกับเล่าประสบการณ์การดำเนินงานด้วยระบบ EdPEx ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ทั้งนี้ รศ.ดร.ภก. สมภพ ได้นำเสนอปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสำเร็จและยั่งยืนในการนำระบบ EdPEx มาใช้ มีด้วยกัน 5 ประเด็น คือ

1. การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและมียุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน
2. ผู้บริหารในทุกระดับให้ความสำคัญและนำไปปรับใช้อย่างจริงจัง
3. การสื่อสารนโยบาย แนวทางในการดำเนินงานสู่ประชาคม
4. จัดกิจกรรมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ EdPEx อย่างต่อเนื่อง
5. การพัฒนาผู้ตรวจประเมินคุณภาพอย่างเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

นอกจากนั้น ในภาคบ่ายของการสัมมนา ยังเปิดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ 5 คณะนำร่องในการใช้ระบบ EdPEx เมื่อปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร คณะแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ โดยได้เกียรติจากคณบดีทั้ง 5 คณะมาเล่าประสบการณ์ตรงให้ได้ฟัง
โดยผู้บริหารทั้ง 5 คณะ ได้นำเสนอข้อดี/ข้อเสีย พร้อมกับข้อเสนอแนะและแนวทางการเริ่มต้นใช้ EdPEx ที่น่าสนใจดังนี้

ข้อดีของ EdPEx
-เป็นตัวชี้วัดที่คิดเอง ทำเอง
-เห็นความได้เปรียบในการแข่งขัน และจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง
-เป็นความท้าทาย และทำให้เกิดจุดเปลี่ยนที่ดีขึ้นในหน่วยงาน
-ทำให้เกิดความเข้าใจในงานบริหารทั้งในกลุ่มผู้บริหารตั้งแต่ระดับล่าง ระดับกลาง และระดับสูง

ข้อเสีย ของ EdPEx
-การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร จะมีผลต่อการดำเนินงาน
-เกณฑ์บางส่วนอาจจะยังไม่เหมาะสมกับสถาบันการศึกษา

ข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินงาน EdPEx
-ต้องมั่นใจในระบบ EdPEx เพื่อการพัฒนาระบบประกันคุณภาพของหน่วยงาน
-ต้องสร้างความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในองค์กรอย่างจริงจัง
-ควรพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานเพื่อการเป็นผู้ตรวจประเมิน
-ถอดบทเรียนจากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ

จากการเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวันดังกล่าว ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่จะใช้ระบบ EdPEx และสำนักหอสมุดเอง ได้มีนโยบายจะใช้ระบบ EdPEx ในปีการศึกษา 2558 นี้ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ EdPEx

โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา