การจัดอันดับมหาวิทยาลัย (University Ranking)

หากคุณเป็นคนในวงการมหาวิทยาลัยเชื่อว่าอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตจะต้องเคยได้ยินคำว่า “การจัดอันดับมหาวิทยาลัย หรือ University Ranking”

เมื่อได้ยินแล้วคุณเคยสนใจหรือสงสัยบ้างหรือไม่ว่า“การจัดอันดับมหาวิทยาลัย” คืออะไร แล้วเกี่ยวอะไรกับ “เรา” (“เรา” ในที่นี้หมายถึง บุคลากรของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

การจัดอันดับมหาวิทยาลัย หรือ University Ranking โดยทั่วไปหมายถึง การจัดอันดับมหาวิทยาลัยตามตัวชี้วัดที่หน่วยงานจัดอันดับกำหนดไว้ (ในที่นี้หมายถึง หน่วยงานจัดอันดับในต่างประเทศเท่านั้น)

ปัจจุบันหน่วยงานจัดอันดับมีหลายแห่ง ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานเอกชน หน่วยงานจัดอันดับแต่ละแห่งจะแบ่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นหลายรายการ เช่น ระดับกลุ่มประเทศ ระดับทวีป ระดับโลก ขึ้นอยู่กับหน่วยงานจัดอันดับเป็นผู้กำหนด

ตัวอย่างการจัดอันดับมหาวิทยาลัย เช่น

QS World University Ranking โดย Quacquarelli Symonds Ltd ประเทศสหราชอาณาจักร
http://www.topuniversities.com/qs-world-university-rankings

Time Higher Education World University Ranking หรือ THE World University Ranking โดย Thomson Reuters ประเทศสหราชอาณาจักร
https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings

UI GreenMetric Ranking of World Universities หรือ  Green University Ranking โดย Universitas Indonesia (UI) ประเทศอินโดนีเซีย
http://greenmetric.ui.ac.id/

Webometrics Ranking โดย Cybermetrics Lab ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยในสังกัด The Centre for Scientific Information and Documentation (CINDOC) สภาวิจัยแห่งชาติ (Spanish National Research Council – CSIC) ประเทศสเปน
http://www.webometrics.info/

กระบวนการจัดอันดับมหาวิทยาลัย เริ่มจากหน่วยงานจัดอันดับกำหนดรายการตัวชี้วัด สัดส่วนหรือค่าน้ำหนักตัวชี้วัด โดยทั่วไปตัวชี้วัดจะเกี่ยวกับการเรียนการสอน การวิจัย หลังจากนั้น แต่ละปีหน่วยงานจัดอันดับจะสอบถามมหาวิทยาลัยว่าจะเข้ารับการจัดอันดับหรือไม่ ถ้าต้องการเข้าร่วมโครงการก็ส่งข้อมูลไปให้ตามรายการข้อมูลที่กำหนด ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแต่ไม่นำมาใช้ในการจัดอันดับ ขณะเดียวกันหน่วยงานจัดอันดับก็จะรวบรวมข้อมูลบางรายการจากแหล่งอื่นด้วย เมื่อหน่วยงานจัดอันดับได้รับข้อมูลครบถ้วนแล้วจึงนำมาประมวลผล จัดอันดับ ประกาศผลให้มหาวิทยาลัยที่รับการจัดอันดับทราบอย่างไม่เป็นทางการ แล้วจึงประกาศผลให้สาธารณชนรับรู้โดยเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานจัดอันดับ

แม้ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจะสะท้อนสถานะของมหาวิทยาลัยในมุมมองของ หน่วยงานจัดอันดับ แต่กลับมีผลกระทบโดยตรงต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นในเวทีระดับนานาชาติ

เนื่องจากการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายสูงและมีผลต่อการประกอบอาชีพในอนาคต ดังนั้น ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปกครองและนักเรียน (ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ) ในการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้าศึกษาต่อ และผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหาร มหาวิทยาลัยในการวางแผนพัฒนางานด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับจากหน่วยงานจัดอันดับหลายแห่ง และผลการจัดอันดับก็แตกต่างกันไปในแต่ละปี ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย QS World University Ranking และ UI GreenMetric Ranking of World Universities เป็นหลัก

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ตัวชี้วัดที่ใช้จัดอันดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการเรียนการสอน การวิจัย ในฐานะที่หนึ่งในภารกิจของ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัยของมหาวิทยาลัย ดังนั้น งานด้านต่างๆ เช่น การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ การให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้งานฐานข้อมูลออนไลน์ การให้บริการทรัพยากรสารสนเทศ จึงเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาจารย์และนักวิจัยด้วย

มาถึงตรงนี้ คงพอเข้าใจแล้วใช่ไหมว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องกับ “เรา” อย่างไร เพราะ หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับดีๆ ก็เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจเพราะถือว่า “เรา” ก็มีส่วนร่วมต่อความสำเร็จดังกล่าวนั่นเอง