การเขียนเพื่อเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บางคนอาจจะคิดว่ามันยากจัง แล้วก็เพิ่มความกังวลด้วยการบอกตัวเองว่า เขียนไปคงไม่มีคนอ่าน คนอ่านคงไม่รู้เรื่อง เขียนไม่ดี … และอีกหลายเหตุผลที่ยิ่งทำให้เกิดความกังวลในการเขียน
โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า การเขียน คือ การเล่าเรื่องดีๆ ที่เราไปรู้ ไปได้ยิน ไปฟังมา เชื่อว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับคนอื่นๆ ที่อยากให้เขาได้รู้ไปพร้อมๆ กับเรา
การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง คือ การแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นๆ ดีกว่าเก็บไว้กับตัวเอง … ส่วนการเขียนดี หรือไม่ดีนั้น เมื่อเราสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว การเขียนก็จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเอง
เทคนิคหนึ่งที่จะช่วยให้การเขียนดีขึ้นคือ การอ่าน เมื่อเราอ่านเยอะจะทำให้มีเรามีความรู้ มีคลังคำที่จะนำมาใช้กับเรื่องที่เราเขียนได้มากขึ้น
ส่วนเทคนิคที่มักใช้ในการเล่าเรื่องด้วยตัวอักษรให้น่าสนใจ ถ้าเป็นทฤษฎีโครงสร้างการเขียนข่าว จะเรียกว่า การเขียนข่าวตามโครงสร้างแบบปีรามิดหัวกลับ
ทำไมต้องปีรามิด แล้วปีรามิดหัวกลับ เป็นอย่างไร? แบบเข้าใจง่ายๆ คือ เลือกเรื่องที่อยากจะเล่า และคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาเล่า มาบอกเป็นเรื่องแรก แล้วค่อยๆ เล่าเรื่องสำคัญรองลงมา เพื่อดึงความสนใจของคนอ่าน และเพื่อให้เรื่องราวจบแบบสมบูรณ์ เทคนิคที่ตัวเองใช้ส่วนใหญ่คือ การสรุปเรื่องสำคัญทั้งหมดอีกครั้งเป็นการย้ำถึงเรื่องราวที่เล่าไปทั้งหมด
นอกจากใช้เทคนิคในการเขียนเรื่องเล่าดังที่กล่าวมาแล้ว โดยส่วนตัวเป็นคนชอบฟัง และตั้งใจฟังสิ่งที่คนอื่นเล่า เพราะคิดเสมอว่าเรื่องที่เขาตั้งใจเล่าให้เราฟังต้องเป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อฟังแล้วต้องไม่ฟังโดยเสียเปล่า การฟังที่ดีต้องจับประเด็นสำคัญของเรื่องให้ได้ แล้วสรุปเป็นความคิดรวบยอด จึงค่อยมาเขียนให้ตัวอักษรเล่าเรื่องโดยใช้หลักง่ายๆ คือ ใคร? (WHO) ทำอะไร? (WHAT) ทำเมื่อไร? (WHEN) ทำที่ไหน (WHERE) และทำอย่างไร (HOW)
นี่เป็นเพียงเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ และเทคนิคง่ายๆ สำหรับการเป็น “นักเล่าเรื่อง” ด้วยตัวอักษร หวังว่าหลายคนคงได้ใช้ประโยชน์จากเทคนิคเหล่านี้ เพื่อช่วยกันแบ่งปันเรื่องดีๆ ให้กันและกันนะคะ