ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างใกล้ชิด ในปีพ.ศ. 2488 ท่านจบการศึกษาเตรียมปริญญา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และจบธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2492 สถานที่ทำงานแห่งแรกของท่าน คือ กองสหประชาชาติ กรมการเมืองตะวันตก กระทรวงต่างประเทศ ก่อนที่จะลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในปีพ.ศ. 2494-2496 จนกลับมาทำงานเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงต่างประเทศอีกครั้ง
ท่านกลับมาสู่รั้วธรรมศาสตร์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2498 เพื่อเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และยังได้ทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นยังได้ทำงานสำคัญเพื่อการพัฒนาการศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะการริเริ่มหลักสูตรวิชาพื้นฐานเพื่อใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแห่งแรก และการก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์เพื่อทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานต่างๆ สร้างมาตรฐานความรู้ ให้แก่นักศึกษา ได้มีความรอบรู้ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล คิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ ความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมได้
ศาตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ เป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505-2517 และท่านได้ยังได้ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 28 กันยายน พ.ศ. 2517 ซึ่งถือเป็นช่วงวิกฤติการเมืองทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยค่อนข้างรุนแรง ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และหลังจากนั้ัน ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนต่อไป
ปัจจุบันครอบครัวของ ศาสตรจารย์ ดร.อดุล ได้บริจาคหนังสือส่วนตัวของท่านให้แก่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมสถานที่เพื่อทำเป็นคอลเลคชั่นพิเศษให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด โดยจะตั้งอยู่ที่ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
อ้างอิงข้อมูลจาก: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์. 36 ปี ศิลปศาสตร์ 72 ปี ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ. (2541). ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ภาพโดย: wikipedia.org
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
–PROFESSOR DR. ADUL WICHIENCHAROEN: DRAWING INSPIRATION AS AN ADVOCATE OF EDUCATIONAL DEVELOPMENT
–PROFESSOR DR. ADUL WICHIENCHAROEN: DEFENDER OF THAI CULTURE AND NATURAL WONDERS