หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เปิดประตูสู่เสรีภาพทางความคิดและการเรียนรู้

วันที่ 11 พฤษภาคม ของทุกปี ถือเป็นวันพิเศษวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้ง และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

DSC_0024
อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ เคียงคู่ตึกโดม

หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เป็น 1 ใน 11 ห้องสมุดสาขาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์และรำลึกถึงท่าน
หอสมุดปรีดี พนมยงค์ แห่งนี้ยังสะท้อนถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของมหาวิทยาลัยที่จะเป็นประตูสู่เสรีภาพแห่งความคิดทางการศึกษาของสังคมไทย โดยตั้งอยู่ที่ อาคาร 60 ปี ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ในโอกาสครบรอบ 64 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นห้องสมุดใต้ดินแห่งแรกในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ ณ อาคาร 60 ปี ธรรมศาสตร์
หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ ณ อาคาร 60 ปี ธรรมศาสตร์

ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ได้พัฒนาในด้านต่างๆ มากมาย เช่น การให้บริการด้วยเทคโนโลยีห้องสมุดที่ทันสมัย ทั้งในเรื่องระบบห้องสมุดอัตโนมัติ การใช้ประตูอัตโนมัติ บริการยืม-คืนหนังสือด้วยตนเอง การปรับปรุงกายภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ จนได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร BK Magazine เป็น 1 ใน 10 ห้องสมุดในกรุงเทพมหานครที่น่าเข้าใช้และมาเยี่ยมชม

20

ความโดดเด่นของ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มิใช่แต่เพียงเป็นหอสมุดใต้ดินเท่านั้น แต่เป็นห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือ ตำรา และทรัพยากรต่างๆ ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
ทั้งนี้ หอสมุดปรีดีฯ มีห้องนิทรรศการบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่น่าสนใจ ได้แก่

1. ห้องอนุสรณ์ 100 ปี ปรีดี พนมยงค์ จัดแสดงหนังสือและผลงานของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งการแสดงนิทานภาพเรื่อง “เรือกับรั้ว” ผลงานภาพโดยอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา เรื่องราวที่ถ่ายทอดในนิทานนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ห้องอนุสรณ์ 100 ปี ปรีดีฯ ตั้งอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน 1 (U1) ติดกับประตูเข้า-ออกอัตโนมัติ

6

2. มุมป๋วย เพื่ออุษาคเนย์และอาเซียน จัดแสดงนิทรรศการประวัติอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมกับรวบรวมหนังสือวิชาการด้านต่างๆ ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาไว้เป็นพิเศษให้ผู้สนใจศึกษาข้อมูล ตั้งอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน 1 ติดกับชั้นหนังสืออ้างอิง

24

3. ห้องชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นห้องที่เก็บหนังสือส่วนตัวของอาจารย์ชาญวิทย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มอบให้แก่หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อผู้ที่สนใจศึกษาชีวิตและผลงานของท่านผ่านหนังสือและตำราวิชาการที่มีหลากหลายประเภท อยู่บริเวณชั้นใต้ดิน 1 (U1) ใกล้กับจุดบริการถ่ายเอกสารของห้องสมุด

13138978_1326227810727120_3662977392942170100_n

4. ห้องสารนิเทศดนตรีเรวัต พุทธินันทน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเรวัต พุทธินันทน์ และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน 2 (U2) ภายในบริเวณห้องดังกล่าวจะมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานและประวัติของพี่เต๋อ นักร้อง/นักดนตรีที่มีชื่อเสียงของไทย รวมทั้งจัดเป็นพื้นที่ให้บริการสื่อการศึกษา และโสตทัศนวัสดุต่างๆ พร้อมกับห้องกิจกรรมเรวัต พุทธินันทน์ ที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ทรงยศ แววหงษ์ ในการจัดกิจกรรม “คุยกับหนัง” ทุกวันพฤหัสบดี และวันเสาร์เว้นเสาร์กับรายการ “เสาร์สะดวก” ซึ่งมีผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

26

5. ห้องหนังสือหายาก ซึ่งอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน 1 (U1) ติดกับมุมชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นห้องที่รวบรวมหนังสือหายากของไทย หนังสือต้องห้าม หนังสือเก่า หนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมถึงหนังสืออนุสรณ์งานศพ ซึ่งในขณะนี้มีให้บริการกว่า 3,000 รายการ

ด้วยขนาดพื้นที่ทั้งหมด 11,460 ตารางเมตรของหอสมุดปรีดี พนมยงค์ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ปัจจุบันมีทรัพยากรสารสนเทศให้บริการกว่า 6.5 แสนรายการ ทั้งหนังสือ ตำราวิชาการ วิทยานิพนธ์ รวมทั้งวรรณกรรม นวนิยาย และสื่อบันเทิงคดี มีพื้นที่นั่งอ่านพร้อมให้บริการแก่ผู้ใช้ 1,291 ที่นั่ง โดยเปิดให้บริการทุกวันยกเว้นวันหยุดราชการ วันจันทร์-ศุกร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ 8.00-21.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดบริการตั้งแต่เวลา 9.00-21.30 น. บุคคลทั่วไปคิดค่าเข้าใช้บริการ 20 บาทต่อวัน