การจัดการข้อมูลงานวิจัยในยุคดิจิทัล

การจัดการข้อมูลงานวิจัยในยุคดิจิทัล

ข้อมูลงานวิจัย (Research Data) ถ้าอธิบายตามความเข้าใจของตนเอง คือ ข้อมูลที่นักวิจัยใช้ในการทำรายงานวิจัยตามที่ตนเองสนใจ นับตั้งแต่เริ่มเกิดคำถามหรือปัญหาการวิจัย จนถึงได้ผลงานวิจัยออกมาเป็นฉบับสมบูรณ์ ข้อมูลการทำงานทั้งหมดของนักวิจัยถือว่ามีความสำคัญ และเป็นเสมือนรอยเท้า หรือ ทางเดิน ให้แก่นักวิจัยที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันได้เดิมตาม มีประโยชน์ต่อการทำงานวิจัยชิ้นต่อไป ที่จะช่วยหย่อนระยะเวลาในการทำงาน ทำให้เกิดการพัฒนางานวิจัยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อีกทั้ง วิธีการ หรือ กระบวนการจัดการข้อมูลงานวิจัย ล้วนเป็นลักษณะเฉพาะตัวของนักวิจัย หรือ ทีมงานวิจัย ในกรณีที่มีการศึกษาข้อมูลเป็นกลุ่ม ที่มีจะมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือ จัดการข้อมูลที่ได้มาอย่างไร แลกเปลี่ยน หรือ แบ่งปันข้อมูลเพื่อให้การทำงานวิจัยออกมาสมบูรณ์มากที่สุด รวมถึงการวิจัยในแต่ละสาขาวิชา ยังมีความเฉพาะตัวเข้าไปอีก เพราะข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เพื่อทำวิจัยเป็นตามลักษณะของศาสตร์นั้นๆ

เมื่อมาถึงยุคของสังคมดิจิทัลการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น อีกทั้ง เครื่องมือในการเก็บข้อมูล และประมวลผลต่างๆ ยังมีความทันสมัย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลกันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ทำให้สถาบันหรือหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนงานวิจัยเริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของการเก็บรวบรวมข้อมูลงานและวิจัย และผลงานวิจัยภายในหน่วยงาน เพื่อเป็นคลังข้อมูลขององค์กรในการพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

ในการบรรยายหัวข้อ “การจัดการข้อมูลงานวิจัยในยุคดิจิทัล”  ซึ่งจัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าถึง สถานการณ์ของข้อมูลไม่เฉพาะข้อมูลวิจัยในยุคดิจิทัล มีเป็นจำนวนมาก มหาศาล เป็น กลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data)  ที่ไม่มีรูปแบบ ไม่มีลักษะตายตัว อีกทั้ง มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เชื่อมโยงบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet of Thing: IoT) ในขณะเดียวกันการเก็บข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น จะถูกเก็บและประมวลผลอยู่บนคลาวด์ (Cloud) ที่สามารถดึงมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลา การจัดการข้อมูลในยุคดิจิทัล จึงต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ไม่ได้เน้นที่รูปแบบ แต่เน้นที่เครื่องมือที่จะนำมาวิเคราะห์และประมวลผล (Analytic tools)

ด้าน ดร.วชิราภรณ์ คลังธนสมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงการจัดการข้อมูลวิจัยว่า จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ  นักวิจัย หรือ ทีมวิจัย ในสถาบันหรือองค์กร ควรมีการจัดทำมาตรฐานหรือรูปแบบของการจัดเก็บข้อมูลร่วมกัน เพื่อการแบ่งปัน เข้าถึง และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ขณะที่ รศ.ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน อาจารย์ประจำแขนงวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการจัดทำคลังข้อมูลวิจัยในสถาบันหรือองค์กร คือ การกำหนดนโยบายเพื่อการจัดทำคลังข้อมูลงานวิจัยของสถาบัน ในรูปแบบเปิด และมีการจัดทำแผนงานในการดำเนินงาน รวมถึงการจัดทำมาตรฐานในการจัดการข้อมูลงานวิจัยในคลังข้อมูลด้วย ซึ่งปัจจุบันการกำหนดมาตรฐานเพื่อการรับรองคุณภาพทั้งในระดับพื้นฐานและการรับรองคุณภาพเต็มรูป อาทิ  Data Seal of Approval (DSA)  World Data System (WDS) NESTOR Seal (DIN 31644) และ Trustworthy Reporsitories Audit and Certification (ISO 16363) เป็นต้น

โดยสรุปส่วนตัวแล้ว เห็นว่า บรรณารักษ์ ด้วยทักษะด้านการจัดการข้อมูล แน่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยในการกำหนดนโยบาย วางแผน และร่วมกับทีมนักวิจัยในการจัดทำรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลงานวิจัย เพื่อร่วมกันพัฒนาคลังข้อมูลงานวิจัยของสถาบัน

ติดตามข้อมูลวิดิโอการบรรยายและ presentation ของวิทยากรได้ที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร