Plagiarism ความไม่สุจริตทางวิชาการ

Plagiarism (เพล้ต-เจอ-ริ-ซึ่ม) มีรากศัพท์มาจากคำละติน Plagiarius มีความหมายว่า “ผู้ลักพาตัว”

พจนานุกรม Longman Dictionary of Contemporary English, New Edition 2003 ให้ความหมายว่า

  1. เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดใช้คำพูด ความคิด หรืองานของคนอื่น และเสแสร้งว่าเป็นของตนเอง
  2. ความคิด ข้อความส่วนหนึ่ง หรือเรื่องราวที่คัดลอกมากจากงานของคนอื่นโดยไม่ระบุว่ามาจากที่ใด

ในภาษาไทยเองนั้นราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติคำว่า Plagiarism ไว้ว่า    การโจรกรรมทางวรรณกรรม (สาขาวรรณกรรม) หรือ การลอกเลียนวรรณกรรม (สาขานิติศาสตร์) หมายถึง การนำผลงาน ความคิด หรือคำพูดของผู้อื่นไปใช้โดยไม่ให้เครดิตหรือ การนำความคิดและงานของผู้อื่นมาเขียน โดยทำให้ดูเหมือนว่ามาจากความคิดของตนเอง

ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณทางวิชาการอย่างร้ายแรง เป็นความไม่สุจริตทางวิชาการ (Academic Dishonesty) จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางวิชาการ

การกระทำที่เข้าข่าย Plagiarism มีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การคัดลอกแบบคำต่อคำ (word-by-word) การถอดความ (paraphrasing) การนำข้อความจากต้นฉบับมาใช้  (copy and paste) โดยไม่ใส่เครื่องหมายอัญประกาศ รวมทั้งการนำผลงานเดิมของตนเองมาใช้ซ้ำ (self-plagiarism)

plagiarism-examplesการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทำให้การค้นหา และคัดลอกข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สามารถพบเห็นการกระทำในลักษณะ Plagiarism เพิ่มมากขึ้น ทั้งในวงการวรรณกรรม  ธุรกิจ เกมส์คอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ และการศึกษา เกิดขึ้นทั้งโดยเจตนา และไม่ได้เจตนา และพบว่ามักเป็นข่าวในสื่อ หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เช่น กรณีนายคาร์ล กุตเต็นเบิร์ก รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมประเทศเยอรมันนี ถูกกล่าวหาและยอมรับในภายหลังว่าได้คัดลอกผลงานของผู้อื่นโดยไม่ระบุแหล่งที่มาให้ถูกต้อง และอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบซึ่งอาจถูกริบปริญญาบัตร ระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย Bayreuth

แนวทางเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่เข้าข่าย Plagiarism
1. ค้นคว้าจากหลายๆแหล่ง อ่านให้เข้าใจถ่องแท้ และเขียนผลงานด้วยสำนวนของตนเอง
2. จดบันทึกย่อทุกครั้งที่อ่านข้อมูล และกำกับแหล่งอ้างอิงทุกครั้ง
3.เขียนผลงานด้วยภาษาตนเองไม่นำคำคนอื่นมาใช้ โดยทิ้งเวลาหลังอ่านข้อมูลต่างๆ สักพักจึงเขียนงานด้วยตัวเอง จะช่วยให้สำนวนที่เขียนเป็นภาษาของเราอย่างแท้จริง
4. เขียนโดนวิธีถอดความ หรือ การสรุปสาระสำคัญแทนการคัดลอก และเขียนอ้างอิงให้ถูกต้อง
5. หากจำเป็นต้องนำข้อความนั้นมาอ้างอิงควรเขียนอ้างอิงให้ชัดเจน และใส่เครื่องหมายคำพูดตรงข้อความที่คัดลอก
6. เมื่อไม่แน่ใจว่าต้องระบุแหล่งอ้างอิงหรือไม่ ให้ระบุไว้ก่อน

ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.plagiarism.org หรือสามารถหาหนังสืออ่านได้จากห้องสมุดสาขา ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น
–  การลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรม = Plagiarism โดย กัญจนา บุณยเกียรติ, ประไพพิศ มงคลรัตน์.
– เขียนผลงานทางวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ลักลอกผลงาน (Plagiarism) โดย มานิตย์ จุมปา.
 Referencing & understanding plagiarism by Kate Williams and Jude Carroll.

รายการอ้างอิง
กัญจนา บุณยเกียรติ. (2556). การลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรม (Plagariasm). (พิมพครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บุษบา มาตระกูล. (2551). “Plagariasm โจรกรรมทางวรรณกรรม”.  ก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์. 8(2), 7-10. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557. จาก  http://sci.bsru.ac.th/e-magazine/8-2 /chapter-2.pdf
ปรียานุช คลอวุฒิวัฒน์. (2557). เรากำลังเข้าข่าย Plagiarism หรือไม่ ?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2557. จาก  http://library2.parliament.go.th/wichakarn/content-digest/digest005.pdf