พิภู พุ่มแก้ว : ทำให้การอ่านเป็นความเคยชิน

พิภู พุ่มแก้ว (ต๊ะ) ผู้ประกาศข่าว ประจำ THE STANDARD Daily

พิภู พุ่มแก้ว
พิภู พุ่มแก้ว

ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 45

เมื่อถามว่า คุณชอบอ่านหนังสือไหม และอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณเริ่มอ่านหนังสือ ต่างคนก็ต่างมีเหตุผลกันไป

สำหรับ  “พิภู พุ่มแก้ว” เริ่มฝึกฝนการเป็นนักอ่านตั้งแต่มัธยมต้น เขาติดการอ่าน และทำให้การอ่านเป็นความเคยชิน  เพราะเชื่อว่า หนังสือมีประโยชน์ ถึงอาจจะไม่ใช่วันนี้ ก็อาจจะเป็นในอนาคต

 บทสัมภาษณ์ พิภู พุ่มแก้ว (ต๊ะ) 

หนังสือเล่มไหนที่เปลี่ยนชีวิตหรือสร้างแรงบันดาลใจในการอ่าน

ผมอ่านหนังสือจะเรียกว่าเยอะ ก็ไม่ถึงขั้นเยอะ แต่ตอนเด็กๆ ก็จะอ่านบ้าง การอ่านจะเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ช่วงอายุ เด็กๆ ก็จะอ่านพวกเอนไซโคลพีเดีย (Encyclopedia) ที่เป็นอัตชีวประวัติ บุคคลดัง ๆ ของโลก เด็ก ๆ ก็จะชอบ เซอร์ไอแซก นิวตัน  กาลิเลโอ กาลิเลอี หรือว่าจอร์จ วอชิงตัน เพราะชอบอ่านประวัติของพวกเขา โตมาก็จะอ่านหนังสือทางด้านกีฬา

แต่ถ้าถามว่าหนังสือเล่มไหนที่เปลี่ยนชีวิตจริง ๆ ก็ไม่ได้มีว่า เล่มนี้เลยที่เปลี่ยนชีวิต แต่เล่มที่เวลาถูกสัมภาษณ์ผมจะพูดบ่อย ๆ ก็จะมี 2 เล่ม ซึ่งเป็นนักเขียนที่ตอนนั้นผมพยายามบังคับตัวเองให้กลับมาอ่านหนังสือใหม่ ๆ  ในช่วงมัธยมต้น ก็จะเป็นหนังสือของคุณวินทร์ เลียววาริณ เล่มประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ส่วนอีกเล่มคือ สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง เวลาใครสัมภาษณ์ก็จะพูดถึง 2 เล่มนี้เป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตอะไร เพราะเราก็จะอ่านของใครอีกหลายคน ของคุณชาติ กอบจิตติ เราก็จะอ่านเท่าที่เราพออ่านได้ ที่อ่านเป็นนิยาย

โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าเป็นนิยายผมชอบอ่านแนวสืบสวนสอบสวน ที่เหลือชอบอ่านแนวอัตชีวประวัติ หรือ หนังสือที่เป็นเรื่องสั้น เป็นเรื่องราวของความคิดมากกว่า ถ้าถามว่าเล่มไหนที่เพิ่งอ่านจบไป ก็อ่าน “Powerism” ของพี่โตมร ศุขปรีชา ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่า เขาเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ แต่จริง ๆ เขาเป็นนักเขียนมานานแล้ว ด้วยผลงานของเขาน่าสนใจ ได้ความรู้ดี

ถ้าให้เลือกการอ่าน ชอบอ่านออนไลน์ หรือ อ่านหนังสือเป็นเล่มมากกว่ากัน

ถ้าจริงๆ แล้ว ผมชอบหนังสือที่เป็นหนังสือ ผมชอบกลิ่นกระดาษ โดยเฉพาะกระดาษ Green Read มันจะมีกลิ่นบางอย่าง แล้วผมก็ยังชอบการเข้าห้องน้ำแล้วมีหนังสือนั่งอ่าน  จะเป็นหนังสือหรือจะเป็นการ์ตูน  แต่ยอมรับว่าทุกวันนี้อ่านเรื่องราวบนออนไลน์มากกว่า เยอะกว่า ไม่ว่าจะเป็นบทความ เรื่องสั้น หรือติดตามข้อมูลข่าวสาร เพราะมันสะดวก  แต่ถ้าถามโดยส่วนตัวแล้วชอบอ่านเป็นเล่มมากกว่า ถ้าอ่านนวนิยายเป็นเล่ม เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์  ลอร์ดออฟเดอะริงส์ หรือ พวกนิยายบางเรื่องที่เป็นแนวสืบสวนของต่างประเทศ หรือหนังสือที่เป็นแนวคิด เป็นแนวทัศนคติของแต่ละบุคคลที่เขาหยิบมาเขียน ชอบอ่านเป็นเล่มมากกว่า เพราะผมรู้สึกว่ามันหยิบไปไหนมาไหนได้

คิดว่า“หนังสือเปลี่ยนโลก” จริงไหม

หนังสือเปลี่ยนโลกหรือครับ ผมเชื่อว่าหนังสือมันอาจจะเปลี่ยนหรือมันอาจจะเพิ่มเติมบางสิ่งบางอย่างให้กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย สำหรับบางคนก็อาจจะใช้คำว่าเปลี่ยนโลกได้ หรือสำหรับบางคนก็อาจจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือสำหรับบางคนก็อาจจะเป็นการเติมข้อมูล เติมคลังความรู้ให้กับคนๆ  นั้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคนที่อ่านเองว่า เขาเอาไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

คนบางคนอาจจะอ่านหนังสือเยอะ อ่านเป็นพันเป็นร้อยเล่ม แต่มันจะมีไม่กี่เล่มหรอกที่ทำให้เขารู้สึกว่า นี่แหล่ะเป็นแรงบันดาลใจที่สอนให้เขาเรียนรู้ หรือบางคนเขาอาจจะอ่านเพียงเล่มเดียว แต่หนังสือเล่มนี้ นำพาเขาไปสู่ประสบความสำเร็จอย่างที่เขาต้องการ สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ที่จะหยิบจับสิ่งที่อยู่ในหนังสือเหล่านั้น

คือต้องยอมรับจริง ๆ ว่า หนังสือ นอกจากเพื่อความเพลิดเพลิน นอกจากจะเป็นแหล่งความรู้แล้ว มันเป็นตัวบ่งบอกถึงไทม์ไลน์ของช่วงเวลา ของสิ่งที่เกิดขึ้น ของวัฒนธรรม ของสังคม ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับโลก ณ ช่วงเวลานั้น มันคือบันทึกอย่างหนึ่ง เหตุการณ์ มันคือประวัติศาสตร์ มันจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันไปยาวนาน เพียงแต่ว่าใครจะชอบในรูปแบบไหนของหนังสือก็เท่านั้นเอง

ถ้าจะเริ่มต้นการอ่านควรทำอย่างไร

ผมเชื่อว่า ณ ปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน จะหนังสือแบบไหนก็ได้ ขอให้เริ่มอ่าน เดี๋ยวถ้าอ่านบ่อย ๆ แล้วก็จะติด บางคนอาจจะรู้สึกว่าขี้เกียจ เดี๋ยวไว้ค่อยอ่าน ๆ  ผมก็ยอมรับว่ามีหนังสือกองไว้ 30 40  เล่มที่ยังไม่ได้อ่าน แต่ก็ไม่เป็น เมื่อไรที่คุณเริ่มอ่าน คุณก็จะชินกับการอ่าน  ฝึกให้มันเป็นกิจวัตร เป็นสิ่งที่คุ้นเคย สุดท้ายแล้วมันจะได้ประโยชน์กับตัวคุณเอง

มันไม่ได้อ่านเพราะเท่ห์ แต่มันอ่านเพราะ บางทีเราอ่านแล้วจะเจอเรื่องบางเรื่องที่เราคาดไม่ถึง หลบซ่อนอยู่ในบาง  Chapter ของหนังสือสักเล่มหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันอาจจะเป็นประโยชน์กับเรา ไม่วันนี้ ก็วันข้างหน้า อ่านหนังสือพิมพ์ก็ได้ หรือจะชอบอ่านนิตยสารก็ได้ หรือใครที่ขยัน เป็นหนอนหนังสือจะอ่าน Textbook ก็ได้ หรือจะเป็นหนังสือนอกเวลา หรือนวนิยายก็ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันคือความรู้ มันคือจินตนาการ และมันมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย อาจจะไม่ใช่วันนี้ ก็อาจจะในอนาคต