แม้โลกจะเต็มไปด้วยสื่อให้เสพจำนวนมาก ข้อมูลเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง รวดเร็วแทบจะทุกวินาที โลกส่วนตัวของเราอาจจะหายไปโดยไม่รู้ตัว แต่คุณรู้หรือไม่ว่า โลกส่วนตัวที่เราโหยหา มันหาได้ไม่ยาก
“เคน” นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD สำนักข่าวออนไลน์ พูดถึงวิธีการเสพสื่อที่ง่ายที่สุด ที่ช่วยสร้างโลกส่วนตัวให้เขาได้เกิดไอเดียใหม่ๆ นั่นคือ “การอ่าน” และ วิธีการเสพสื่อด้วย “การอ่าน” ได้นำพาหนังสือเล่มต่าง ๆ ที่ทำให้เขาเปลี่ยน และมองโลกในมุมมองใหม่ ๆ ที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กับเขาในอนาคต
คุณค่าของการอ่านคืออะไร
ถ้าสำหรับผม ผมว่าการอ่านไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ มันเป็นเรื่องสนุกสำหรับผม การอ่านเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราเข้าถึงอะไรบางอย่าง ผมไม่ได้มองว่าอ่านหนังสือดีกว่า ดูหนังสนุกกว่า ฟังเพลงดีกว่า แต่ละรูปแบบในการเสพมันมีข้อดีของมัน Broadcast ทำไมมันถึงมา เพราะมันช่วยย่อย สิ่งที่ยากให้เข้าใจง่าย มันทำให้ประหยัดเวลา เมื่อถามว่า Broadcast จะมาแทนที่หนังสือไหม มันก็ไม่ใช่ ทีวีมันตายไหม มันก็ไม่ได้ตาย คนก็ยังดูอยู่ เพียงแต่เขาไม่ได้ดูทีวีอย่างที่เรารู้จัก เขาดูผ่าน Youtube ดู Netflex ดูแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ
ผมคิดว่า การอ่านเป็นวิธีการเสพสื่ออย่างหนึ่ง มันเป็นวิธีการเสพสื่อที่ดั้งเดิมที่สุด ฟังก์ชั่นของการอ่านจะมีบางอย่างที่ไม่เหมือนกับวิธีการเสพอื่น ๆ การอ่านมันซึมลึกเข้าไป การอ่านเป็นวิธีการเสพสื่อเดียวที่มีโลกส่วนตัวให้เราเยอะ เพราะเราต้องอยู่กับมันนานมาก หนังสือเล่มหนึ่งต้องอ่านอย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง แล้วเราต้องอยู่กับมันทีละตัวอักษร ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ ไล่เรียงไปทีละบรรทัด ค่อย ๆ อ่านไปทีละย่อหน้า
สำหรับผมคุณค่าของการอ่านหนังสือ ไม่ใช่สาระที่ได้จากหนังสือ ไม่ใช่แรงบันดาลใจ หรือความสนุก แต่มันเป็นความคิดระหว่างบรรทัดที่เกิดขึ้นโดยไมได้ตั้งใจ ซึ่งผมคิดว่าวิธีการเสพสื่ออื่นยังให้ไม่ได้ มันเป็นความคิดระหว่างบรรทัด เป็นการปิ๊งไอเดียขึ้นมาระหว่างตัวหนังสือกับตัวหนังสือ ซึ่งการอ่านให้ได้ เพราะการอ่านทำให้มีสมาธิมากที่สุด
หนังสือเปลี่ยนโลกจริงไหม
หนังสือมันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ บันทึกความคิดคน เป็นบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง ตั้งแต่มนุษย์ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมา หนังสือจึงเป็นที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่างในอดีต ไม่ว่าจะเป็นความรู้ สาระ บันเทิง ความคิด คมความคิดต่างๆ เพราะฉะนั้น หนังสือจึงเป็นแหล่งที่รวบรวมความรู้ แรงบันดาลใจทุก ๆ อย่างไว้ เมื่อถามว่า มันเปลี่ยนโลกได้อย่างไร มันเปลี่ยนโลกได้ด้วยคน คนที่อ่านสารจากหนังสือเล่มนั้นมากกว่า
สำหรับผม หนังสือมันเปลี่ยนวิธีคิดของคน เปลี่ยนโลกของคน แม้ว่าจะเป็นคนคนเดียวก็ตาม แต่ถ้าคนคนนั้นเป็นผู้นำ เป็นผู้มีอิทธิพลกับสังคม ก็มีส่วนที่นำพาหนังสือเล่มนั้นให้เปลี่ยนโลกได้ ที่สำคัญคือ หนังสือมันเป็นวิธีการเปลี่ยนแบบซึมลึก เปลี่ยนแบบซึมลงไปในสมอง มันไม่ใช่เปลี่ยนแต่ผิว ๆ ผมคิดว่าปัจจุบันหนังสือก็ยังทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี
หนังสือที่เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนโลกของคุณ
มันก็แล้วแต่วัย ผมว่าหนังสือมันเลือกคนอ่าน ไม่ใช่คนอ่านเลือกหนังสือ ว่ามันเหมาะกับใคร หนังสือบางเล่มผมอ่านตอนเด็กๆ ผมก็ไม่เข้าใจ ต้องมาอ่านตอนโตถึงจะเข้าใจ หนังสือแต่ละเล่มก็จะมีฟังค์ชันของมัน เช่น หนังสือการ์ตูน โดราเอมอน ผมว่ามันเป็นหนังสือที่เปลี่ยนโลกของเด็ก เปลี่ยนจิตนาการ เปลี่ยนให้ฝึกคิดนอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
พอโตมาหน่อยเล่มที่ผมชอบมาก คือ แฟรงค์ อบาเนล ยอดนักตุ๋น ที่นำมาทำเป็นภาพยนตร์ Catch Me If You Can มันเป็นหนังสือเล่มแรก ที่ไม่ใช่หนังสือเรียนที่ผมอ่านจบ 3-4 รอบ ภายในระยะเวลาเพียงอาทิตย์เดียว สิ่งที่ได้จากตอนนั้น คือ จินตนาการของเด็กมัธยมต้นคนหนึ่งที่สามารถอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนเล่มแรกจบ แล้วรู้สึกว่าชอบ รู้สึกว่าหนังสือก็ไม่ใช่ยาขมเสมอไป
อีกเล่มที่เปลี่ยน คือ นิตยสาร a day ที่มันเหมือนเปิดโลกของเด็กม.ปลายคนหนึ่งที่ปกติอยู่ในร้านเกมส์ เตะฟุตบอล แล้วก็เรียนหนังสือ มันเปิดโลก ว่ายังมีนักคิด นักเขียนให้เราได้รู้จัก มีคนชื่อ รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นเอก รัตนเรือง วินทร์ เลียววาริน ชาติ กอบจิตติ a day เปิดโลกทัศน์อย่างแท้จริง ทำให้เราก้าวสู่โลกการอ่านที่เติบโตขึ้น
ช่วงมหาวิทยาลัยเป็นช่วงหาความหมายของชีวิต เหมือนเราไม่เข้าใจตัวเองว่าเกิดมาทำไม รู้สึกต่อต้านระบบการเรียนการสอน รู้สึกว่าอยากค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง สำหรับผมค้นหาตัวเองด้วยตัวหนังสือ ตอนนั้นหนังสือที่อ่านเป็นงานเขียนของคุณเสกสรร ประเสริฐกุล และวิทยากร เชียงกูร โดยเฉพาะวิทยากร เชียงกูร ผมอ่านแทบทุกเล่ม ชอบมาก เพราะว่าหนังสือของเขามันจะครุ่นคิดและวิธีคิดของเขามันจะลุ่มลึก ต่อต้านระบบกระแสหลัก พร้อมกับให้เราตั้งคำถามที่ว่า เราต้องการอะไรในชีวิต ที่ไม่ใช่แค่รถคันโต บ้านหลังใหญ่ งานที่มั่นคงอย่างเดียว
สำหรับหนังสือในปัจจุบัน จะเป็นหนังสือที่พูดถึงการทำงานเป็นหลัก หนังสือที่เป็นความรู้ ที่จะนำพาเราไปโลกอนาคต เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยน mind set อย่างหนังสือ Start With Why เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนความคิดของผมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หนังสือเล่าถึงวิธีคิดของคนที่จะเป็นผู้นำ เขาโน้มน้าวผู้ตามได้อย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร มันเปลี่ยนวิธีคิดแบบถอนรากถอนโค่น สำหรับคนที่จะเป็นผู้บริหาร ต้องบริหารคน หรือคนที่ต้องการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ด้วยการเริ่มต้นคำถามที่ว่า “ทำไม” ที่จะพาไปศูนย์กลางของการก่อตั้งต่าง ๆ
หนังสือซีรีย์ของ Harvard Business Review ซึ่งเป็นการรวบรวมงานวิจัยที่น่าสนใจ อย่างเล่ม On Leadership เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและกรณีศึกษาต่าง ๆ ว่า ความเป็นผู้นำเขาทำอย่างไร และเล่มล่าสุด หนังสือ New Power ที่พูดถึงพลังใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก
บทสรุป “การอ่าน” และ “หนังสือ” ของ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ทำให้รู้ว่าแม้โลกของเรายังไม่เปลี่ยนในวันนี้ แต่โลกส่วนตัวที่เราได้จากการอ่าน และจากหนังสือที่อ่าน จะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนโลกของเราให้เติบโตขึ้นทุกวัน