ยากหรือไม่? เมื่อห้องสมุดจะใช้ระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001:2015

รูปหอสมุด_๑๘๐๙๒๙_0012ด้วยเป้าหมายของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน  และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการห้องสมุดได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล นั่นเอง

นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสนใจและเริ่มศึกษา “ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001:2015” เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการห้องสมุด ในเชิงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง หลังจากประสบความสำเร็จได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารจัดการคุณภาพ ISO9001:2015 แล้ว

ในส่วนของผู้เขียนเองหลังจากได้เข้ารับการอบรม “ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001:2015” ยังมีคำถามอยู่ในใจว่า “ยากหรือไม่? เมื่อห้องสมุดต้องมาทำระบบ ISO 14001:2015” ผู้เขียนขอถอดเทปคำตอบ “คุณอนุตรีย์  ยอแสงรัตน์” วิทยากรจากบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด มาบอกกล่าวให้ทุกท่านได้รับทราบกัน ส่วนหนึ่งเพื่อจุดประกายให้ห้องสมุดแห่งอื่นๆ ที่กำลังสนใจเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในห้องสมุด หรือ กำลังวางแผนที่จะพัฒนาห้องสมุดเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน ISO 14001 เช่นกัน

อบรม ISO14001_๑๙๐๓๐๔_0012
คุณอนุตรีย์ ยอแสงรัตน์ วิทยากรจากบริษัท เอสจีเอส ประเทศไทย จำกัด

ความยาก ง่ายของการจัดทำระบบ ISO14001:2015 ในห้องสมุด

จริงๆ ก่อนอื่น หากจะพูดถึงความยากง่ายของการจัดทำระบบ ISO14001:2015 ในห้องสมุด ต้องมาคิดก่อนว่ากิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุดมันทำลายหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนก่อน เพราะด้วย ISO14001 เป็นเรื่องของการรักษ์โลก เพราะฉะนั้นจากตัวกิจกรรมของห้องสมุด บางกิจกรรมอาจจะไปเบียดเบียนทรัพยากรของโลก การเบียดเบียนหมายถึง การใช้ทรัพยากรมากเกินความจำเป็น มีการปลดปล่อยของเสีย เช่น ในรูปของขยะ หรือ น้ำเสีย

เมื่อห้องสมุดรู้แล้วว่า ห้องสมุดกำลังเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งที่ห้องสมุดแก้ไข คือ การพยายามทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเบียดเบียนทรัพยากรและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อถามว่า ทุกกิจกรรมหรือไม่นั้น อาจจะไม่ทั้งหมด กิจกรรมในห้องสมุดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากนักเมื่อเทียบกับหน่วยบริการเหมือนกัน เช่น โรงพยาบาล  ความยากก็จะลดลง แต่จะบอกไม่ยากก็ไม่ได้ เพราะห้องสมุดเพิ่งเริ่มทำระบบ  การเริ่มต้นมักจะมาพร้อมกับความยากในเรื่องการทำความเข้าใจระบบ ISO 14001

ห้องสมุดควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี

ในกรณีของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าจะเริ่มต้น  จะมีข้อได้เปรียบที่ผ่านระบบ ISO 9001 มาแล้ว เพราะด้วยแนวคิด กระบวนการ มีอยู่แล้ว อีกทั้งยังใช้หลักการเดียวกัน คือ  PDCA   สำหรับสิ่งที่ต้องกลับไปทำเป็นอย่างแรก คือ การกลับไปทบทวนข้อกำหนดที่เหมือนกัน ได้แก่ ข้อ 4.1  4.2  และ ข้อ 6.1.1  ได้แก่ บริบทองค์กร ความเสี่ยง  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการทบทวนความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อปรับมุมมองและเพิ่มเติมประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้าไป  อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การประเมิน Environment Aspect เพื่อนำมาจัดทำกระบวนการ ทั้งการวางแผน การควบคุม และการป้องกัน เช่น การจัดการขยะ การจัดการสารเคมี การจัดการผู้รับเหมา หรือ อาจจะสอดแทรกในกระบวนการที่มีอยู่เดิม รวมไปถึงการป้องกันเหตุฉุกเฉิน ที่ต้องเพิ่มในประเด็นการจัดการของเสียเข้าไปด้วย ท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่า เมื่อห้องสมุดได้ทบทวนข้อกำหนดต่างๆ และประเมิน Environment Aspect เสร็จเป็นที่เรียบร้อย จะรู้ว่าควรจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานตามข้อกำหนดของ ISO14001
อบรม ISO14001_๑๙๐๓๐๔_0004
บรรยากาศการอบรมระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 ของบุคลากรหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2562

หากกล่าวโดยสรุปแล้ว การจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน  ISO14001:2015 ในห้องสมุด อาจจะไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพื่อมาช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและทร้พยากรธรรมชาติให้มากขึ้น เชื่อว่า ห้องสมุดหลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ เครือข่ายห้องสมุดสีเขียว ซึ่งหอสมุดฯ เป็นหนึ่งในเครือข่าย และมีห้องสมุดสาขา 3 แห่งที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียวของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ

การเข้าสู่มาตรฐาน ISO14001:2015 จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพื่อการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนในอนาคต