ในวันที่คุณต้องเลิกทำงานที่คุณรัก คุณจะเตรียมรับมือกับมันอย่างไร? สำหรับ “อรอนงค์ เอี่ยมเยี่ยม” หรือ “พี่อร” เจ้าหน้าที่ห้องสมุด ประจำห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นหนึ่งในบุคลากรที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2562 นี้
คุณอรอนงค์ เล่าถึงความหลังครั้งที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครั้งแรกเมื่อปี 2525 ว่า “วันแรกที่มาทำงาน ด้วยความตั้งใจเราก็ต้องแต่งตัวสวยพร้อมมาทำงานเต็มที่ แต่พอมาถึงที่ทำงานพี่เขาก็ให้อุปกรณ์เป็นขันกาว 1 ใบ และแปรงทากาว พร้อมผ้ากันเปื้อน จากชุดสวยจึงต้องเปลี่ยนเป็นฟอร์มใหม่ ตอนนั้นได้ทำงานในห้องซ่อมหนังสือภาษาไทย รุ่นพี่ที่ทำงานด้วยกัน เช่น พี่นา ป้าจิตร พี่อ๋อย พี่น้อย สมัยนั้นยังอยู่ที่ตึกเก่า (ปัจจุบันคืออาคารคณะรัฐศาสตร์) มีความสุขมาก เพราะพี่ๆ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี”
ด้วยความเป็นรุ่นน้องที่เข้ามาทำงานใหม่จึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น แถมด้วยที่เป็นคนน่ารัก จึงเป็นที่เอ็นดูของพี่ๆ จนถูกยกให้เป็น “ดาว” ของห้องซ่อมเลยก็ว่าได้
“สมัยนั้นจำได้จะมีการพนันขันต่อกันระหว่างห้องซ่อมภาษาไทย ห้องซ่อมภาษาอังกฤษ ให้หนุ่มๆ มาจีบ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเราไม่สนใจ และมีรุ่นพี่คอยเตือนด้วย” พี่อรเล่าอย่างมีความสุข
หลังจากนั้นงานซ่อมก็ได้มาเขียนสันหนังสือ ซึ่งเป็นงานที่ทำให้ฝึกการคัดลายมือ เพราะสมัยนั้นต้องเขียนสันหนังสือกันเอง ก่อนที่จะเริ่มมาทำงานวารสาร ณ หอสมุดปรีดีฯ ในปี 2539
สำหรับงานวารสารและหนังสือพิมพ์ ขณะนั้นได้รับหน้าที่จัดชั้นวารสาร ตรวจวารสาร พิมพ์เอกสารต่างๆ เย็บเล่มวารสาร ให้หัวหน้า ตอนนั้น คือ คุณจันทร์เพ็ญ เล่าอิทธิโชติ
“สมัยนั้นงานวารสารและหนังสือพิมพ์ ของหอสมุดปรีดีฯ เป็นที่นิยมของนักศึกษากันมาก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่นักศึกษา มักจะมาหาข้อมูลเพื่อทำงานกัน แต่ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ทั้งวันแทบจะไม่มีคนหยิบออกจากชั้น เพราะข่าวสารสามารถอ่านได้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ แถมยังรวดเร็วกว่าเสียด้วย”
เมื่อถามว่า “งานวารสาร” ของหอสมุดฯ ยังมีความสำคัญอยู่ไหม ในส่วนตัวของคุณอรอนงค์กล่าวว่า งานวารสาร ในส่วนของเจ้าหน้าที่ต้องทำหลายขั้นตอน ตั้งแต่ลงทะเบียนวารสาร ตรวจสอบตัวเล่ม คัดวารสารที่บอกรับเป็นสมาชิก และวารสารที่บริจาค ติดแถบแม่เหล็ก รวบรวมเพื่อส่งเย็บเล่ม หรือเย็บกันเอง และนำขึ้นชั้น และทำจำหน่ายวารสารที่รับบริจาค แต่สมัยนี้ขั้นตอนต่างๆ ลดลง วารสารตัวเล่มเริ่มน้อยลง และเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ยังมีบางเล่มที่ห้องสมุดต้องเก็บ คือ วารสารที่บอกรับเป็นสมาชิก และนักศึกษายังใช้งานอยู่
ก่อนหน้านี้ห้องสมุดเคยจ้างโรงพิมพ์เพื่อเย็บเล่มวารสารฉบับย้อนหลัง ราคาเล่มละ 80 บาท แต่พอไม่มีงบประมาณดำเนินการ หอสมุดปรีดีฯ ก็นำมาเย็บเล่มแบบง่ายๆ เอง ที่เราเรียกกันว่า “เย็บโยน” คือ วารสารที่รวมฉบับย้อนหลัง และนำมาเจาะรู ร้อยเชือก ติดแลกซีนตรงสัน และพิมพ์ชื่อวารสารและฉบับที่ เล่มที่ ที่เย็บรวมกันติดที่สันไว้ เมื่อนักศึกษามาดูที่ชั้นก็สามารถหาได้ง่าย
จากประสบการณทำงานตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี “พี่อร” ฝากไว้ว่า ทุกคนต้องมีวันที่เหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง หรือเบื่อกับงานที่ทำ ก็ควรหาเวลาพักผ่อน แล้วค่อยกลับมาสู้กับงานใหม่ เป็นการเติมพลังให้กับตัวเอง โดยคติประจำใจที่ยึดถือเสมอ คือ “ทำงานให้ดีที่สุด มีความสุขกับงานของเรา รักงานที่เราทำ แล้วมันจะดีเอง”