ทิพวรรณ อินทมหันต์: จากงานเทคนิคสู่การพัฒนาคลังดิจิทัล หอสมุดแห่ง มธ.

ทิพวรรณ อินทมหันต์ งานพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทิพวรรณ อินทมหันต์ งานพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของคนในทุกวงการ โดยเฉพาะห้องสมุดซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งบริการทรัพยากรสารสนเทศ จึงต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการจากสิ่งพิมพ์สู่เอกสารดิจิทัล เพื่อการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน

“ทิพวรรณ อินทมหันต์”  บรรณารักษ์ชำนาญการ สังกัดงานพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เกษียณอายุราชการประจำปี 2562 ได้มาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในส่วนงานเทคนิคมาจนถึงการรับผิดชอบงานคลังข้อมูลดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ได้ทราบกัน

คุณทิพวรรณ อินทมหันต์ หรือ พี่แดง เข้ารับราชการครั้งแรก ณ ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ก่อนที่จะโอนย้ายมาทำงานที่หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2547  ครั้งแรกได้ทำส่วนงานทำรายการ จากนั้นก็ได้ย้ายมาทำงานจัดหาทรัพยากร จนกระทั่งได้มาอยู่งานพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยรับผิดชอบในส่วนของคลังหนังสืออนุสรณ์งานศพ วัดบวรนิเวศวรวิหาร

หากพูดถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของหอสมุดฯ พี่แดง เล่าว่า  ตอนที่ทำงานที่ มหาวิทยาลัยมหิดลคุ้นเคยกับระบบห้องสมุดอัตโนมัติ  ทำงานมาตั้งแต่ระบบ CDS/ISIS  มาถึง INNOPAC  มาอยู่ที่หอสมุดฯ จะเป็นระบบ HORIZON ต่อมาพัฒนาเป็นระบบ KOHA  ในส่วนของคลังข้อมูลดิจิทัล หอสมุดฯ เริ่มต้นด้วยระบบ CONTENTdm จนปัจจุบันคือ TU Digital Collections

ส่วนในการทำงานเริ่มตั้งแต่เขียนบัตรร่างเอง จนมาถึงการกรอก worksheet  จากนั้นบรรณารักษ์เริ่มกรอกข้อมูลในระบบ  เรียกได้ว่าในแต่ละยุคสมัย บรรณารักษ์ต้องเรียนรู้และพัฒนางานมาโดยตลอด อาศัยการเรียนรู้จากการงานที่ลงมือทำ

สำหรับคติประจำใจในการทำงาน คือ “ความอดทน และพยายามทำให้ได้ ในทุกงานที่รับผิดชอบ และที่สำคัญ คือ ต้องไม่กระทบกับคนอื่นๆ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน”

ในส่วนของการทำงานปัจจุบัน การพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัล แม้จะแตกต่างจากงานเทคนิคในสมัยก่อนที่จะเน้นการให้ Keyword หรือ คำสำคัญ มากกว่าการให้ Subject Heading  หรือ หัวเรื่อง เพื่อการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศ โดยเฉพาะหนังสืออนุสรณ์งานศพ ที่มิได้มีแค่ประวัติผู้วายชนม์เท่านั้น แต่ยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์ของสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละยุคสมัย ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ศึกษาค้นคว้าในเชิงประวัติศาสตร์

ส่วนคำแนะนำในการทำงานที่อยากฝากถึงน้องๆ รุ่นใหม่ คือ การทำงานเทคนิคเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยการสะสมประสบการณ์ และการเรียนรู้จากรุ่นพี่ ที่ผ่านงานมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสอนงานเมื่อพบความผิดพลาด จึงไม่อยากให้น้องๆ คิดว่าเป็นการตำนิ แต่นี่คือการสอนงานและทำความเข้าใจงานร่วมกัน