ระบบบริหารจัดการและตรวจสอบวิทยานิพนธ์ : MyCat (Management System for Copyright, Academic Work, and Thesis)

ที่มา    

ห้องสมุดในฐานะที่มีบทบาทในการเป็นคลังเก็บทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้หลักที่เป็นนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร แลบุคคลภายนอกนั้น  วิทยานิพนธ์เป็นสารสนเทศประเภทหนึ่ง ที่ห้องสมุดบริหารจัดการและให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การจัดเก็บตัวเล่มและให้บริการ จนมาถึงการเป็นวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ จากประสบการณ์ในการบริหารจัดการวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รวบรวมแนวคิด แนวทางต่างๆ ที่เหมาะสม ในการบูรณาการกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการทำวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัย และเพื่อให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผลิตบัณฑิตที่มีการทำวิทยานิพนธ์พร้อมด้วยคุณภาพทางวิชาการ จึงได้จัดทำกระบวนการบริหารจัดการวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปอย่างครบวงจร ด้วยระบบบริหารจัดการ MyCat (Management System for Copyright, Academic Work, and Thesis) โดยเริ่มตั้งแต่การจัดส่งร่างวิทยานิพนธ์ การตรวจสอบลิขสิทธิ์โดยใช้โปรแกรม CopyCat (Copyright, Academic Work and Thesis Checking System) และการจัดเก็บรูปเล่มวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์

Mycat

กลุ่มที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เจ้าหน้าที่คณะ  นักศึกษา อาจารย์  และเจ้าหน้าที่สำนักหอสมุด เป็นผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว  ซึ่งบทบาทของทั้ง 4 กลุ่มนี้ก็คือ

         สำนักหอสมุด เป็นผู้ดูแลระบบ เพิ่ม/ลบรายชื่อผู้ใช้งานระบบเจ้าหน้าที่ประจำคณะ  กำหนดรูปแบบของเล่มวิทยานิพนธ์ เช่น รูปสัญลักษณ์ ข้อมูลของ QR Code และรูปแบบของเอกสารต่างๆ เป็นต้น

         เจ้าหน้าที่คณะ จะเป็นผู้เริ่มต้นด้วยการ   เพิ่ม/ลบ รายชื่ออาจารย์  รายชื่อวิชา  รายชื่อนักศึกษาเฉพาะ ที่ลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ และได้ทำวิทยานิพนธ์ ครบ 5 บทแล้ว   เตรียมที่จะสอบวิทยานิพนธ์  และ ตรวจรับเล่มวิทยานิพนธ์ ด้วยการส่งไฟล์หน้าอนุมัติวิทยานิพนธ์ เข้าระบบ

         นักศึกษา ที่ทำวิทยานิพนธ์ครบ 5 บทแล้ว  จะสอบวิทยานิพนธ์ มีหน้าที่ ส่งไฟล์เข้าระบบเพื่อตรวจ สอบการคัดลอกร่างวิทยานิพนธ์  ตรวจวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ ลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ และดาวน์โหลดไฟล์ ในระบบเพื่อนำไปพิมพ์และจัดทำรูปเล่ม

          อาจารย์ ทำหน้าที่ตรวจร่างวิทยานิพนธ์  และวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์

ประโยชน์

โดยระบบฯ ที่พัฒนาขึ้นนี้ จะอำนวยความสะดวกในเรื่อง

  1. สร้างและควบคุมขั้นตอนการรับส่งวิทยานิพนธ์แบบอัตโนมัติ
  2. ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงานเกี่ยวกับเอกสาร
  3. ประมวลผลและรายงานผลสถิติโดยรวมและแยกตามคณะหรืออาจารย์ที่ปรึกษา
  4. ติดตามสถานะการส่งวิทยานิพนธ์ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
  5. ควบคุมและจัดเก็บวิทยานิพนธ์ให้อยู่ในรุปแบบที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์เสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้เริ่มสื่อสารกับกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ประจำคณะ อาจารย์ นักศึกษา เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในกระบวนการดังกล่าว โดยสำนักหอสมุดกำหนดใช้ระบบ ในเดือนกันยายน 2557

แผนงานที่จะดำเนินการต่อไป

  1. ประกาศระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์พร้อมใช้งานตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เป็นต้นไป
  2. ปรับปรุงประกาศมหาวิทยาลัยเรื่องการจัดส่งตัวเล่มวิทยานิพนธ์หลังจากการใช้ระบบดังกล่าว
  3. ประสานงานในการหาเครือข่ายเพื่อความร่วมมือในใช้ข้อมูลวิทยานิพนธ์เพื่อการตรวจสอบ