ชุมชนนักปฏิบัติ (CoP): Digital Literacy – เครื่องมือประเมินคุณภาพการวิจัย

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) : Digital Literacy เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 9.00 – 12.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องส่งเสริมการรู้สารสนเทศ 2 ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ “เครื่องมือประเมินคุณภาพการวิจัย (Research Programme Evaluation)” โปรแกรม InCites และ Scival

20150126_092155
การบรรยายภาพรวมของเครื่องมือประเมินคุณภาพการวิจัย SciVal

เครื่องมือประเมินคุณภาพการวิจัย (Research Programme Evaluation) คือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการรวบรวม ติดตามข้อมูลงานวิจัยมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ และประเมินสมรรถนะจุดเด่น จุดด้อยการวิจัยขององค์กร เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2557 สำนักหอสมุดได้ดำเนินการบอกรับเครื่องมือประเมินคุณภาพการวิจัยจำนวน 2 โปรแกรม ดังนี้

1. InCites

InCites คือ เครื่องมือประเมินคุณภาพการวิจัย (Research Performance Evaluation) ที่ทำงานบนเว็บไซต์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Platform Wed-Based) โดยเป็นเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยจากรายการบทความ วิจัยตีพิมพ์จากทั่วโลก ซึ่งโปรแกรม InCites ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ (Customized) วิเคราะห์และเปรียบเทียบสมรรถนะของงานวิจัย เพื่อบริหารจัดการงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการคาดคำนวณจากค่าการสืบค้นอ้างอิงบนฐานข้อมูลงานวิจัยระดับโลกที่ได้รับความเชื่อถืออย่าง Web of Science ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Thomson Reuters ทั้งนี้โปรแกรมได้แบ่งการทำงานวิเคราหะข้อมูลออกเป็น 5 ส่วน คือ นักวิจัย (People) หน่วยงาน (Organizations) ภูมิภาค (Regions) พื้นที่การวิจัย (Research Areas) และวารสาร หนังสือ เอกสารประกอบการประชุม (Journals, Books, Conference Proceedings) ทั้งนี้ยังสามารถสร้างรายงานเพื่อประกอบการตัดสินใจสำหรับการวางแผนยุทธศาสตร์งานวิจัยของหน่วยงานได้ถึง 4 รูปแบบ คือ การรายงานสมรรถนะงานวิจัย (Research Performance) ความร่วมมือระดับนักวิจัยและสถาบัน (Collaborations) แนวโน้มของเทคโนโลยี (Trending Technology) และข้อมูลสถาบัน (Institution Profile)

InCites-Page1
เว็บไซต์ “InCites”

2. Scival

ในลักษณะเดียวกันกับ InCites เครื่องมือเพื่อการประเมินคุณภาพการวิจัยอย่าง SciVal คือ เครื่องมืออีกระบบหนึ่งที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Elsevier และทำงานบนฐานข้อมูลด้านงานวิจัยระดับโลกอย่าง Scopus โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยค้นหา รายงาน และวิเคราะห์ศักยภาพของผลงานวิจัยในหน่วยงานโดยแสดงผลผ่านตัวเลขและแผนภาพ เหมาะสำหรับการประเมินสถานการณ์งานวิจัยและสำรวจความร่วมมือในระดับหน่วยงานและระดับประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ตนเองและกำหนดแนวทางเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ภายในโปรแกรม SciVal มี 3 ส่วนหลัก คือ  1. การแสดงภาพรวม (Overview) เป็นการแสดงผลข้อมูลสถานะด้านงานวิจัยของหน่วยงานของเราและที่อื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติโดยรวมว่ามีกี่ชิ้นงาน กี่สาขาวิชาและค่าเฉลี่ยของผลงานวิจัยที่เผยแพร่ 2. Benchmarking เป็นส่วนเพื่อการ Benchmarking ระหว่างหน่วยงานเรากับงานวิจัยของหน่วยงานอื่นๆผ่านการแสดงผลแบบ Metrics และ 3. collaboration เพื่อการสำรวจความเครือข่ายความร่วมมือ

เว็บไซต์ "SciVal"
เว็บไซต์ “SciVal”

 

ภายหลังจากดำเนินการบอกรับ สำนักหอสมุดได้มีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่องในการใช้งานโปรแกรม “InCites” และ “SciVal” เพื่อพัฒนาทักษะการใช้งานของบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างบรรณารักษ์ ซึ่งนำมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้งานและข้อปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างสมาชิกชุมชนนักปฏิบัติ (CoP): Digital Literacy ร่วมกัน

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ "เครื่องมือเพื่อการประเมินคุณภาพการวิจัย"
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ “เครื่องมือเพื่อการประเมินคุณภาพการวิจัย”
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ "เครื่องมือเพื่อการประเมินคุณภาพการวิจัย"
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ “เครื่องมือเพื่อการประเมินคุณภาพการวิจัย”
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ "เครื่องมือเพื่อการประเมินคุณภาพการวิจัย"
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ “เครื่องมือเพื่อการประเมินคุณภาพการวิจัย”

สำหรับชุมชนนักปฏิบัติ (CoP): Digital Literacy ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนนักปฏิบัติภายใต้แผนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรสำนักหอสมุด สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ต่อยอดองค์ความรู้ภายในหน่วยงานเพื่อพัฒนาตนเองและเพื่อนร่วมงานสู่ความเป็นเลิศด้านงานบริการและส่งเสริมการเรียนรู้สารสนเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มุ่งมั่นในการเป็นผู้นำบริการ ส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยสารสนเทศและเทคโนโลยีนำสมัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในระดับนานาชาติ