แนะนำหนังสือหายากด้านกฎหมาย
“อุทาหรณ์สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑-๒ ฉบับกรมร่างกฎหมาย”
โดย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ครบ ๑๐๐ ปี พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) เมื่อ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๓ ท่านเป็นเลขานุการคณะกรรมการชำระสะสางและร่างประมวลกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน องคมนตรี ที่สำคัญต่อวงการกฎหมายคือ ท่านเป็นกรรมการร่างกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมาการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้นถ้ามีนักศึกษาอยากรู้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยมีความเป็นมาอย่างใด ใช้กฎหมายประเทศใดมาเป็นแนวทางบ้าง ต้องแนะนำให้อ่านเล่มนี้
ในหนังสือเล่มนี้ เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ
ตอน ๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๖๘ บรรพ ๑ และ ๒ พร้อมอุทาหรณ์
-บรรพ ๑ ได้แก่ หลักทั่วไป อธิบายถึง สภาพบุคคล นิติบุคคล ทรัพย์ นิติกรรม ระยะเวลา และอายุความ
–บรรพ ๒ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ หนี้
หนังสือเรื่องนี้มีคำว่า อุทาหรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรื่อง ก็เพราะเนื่องจากในเนื้อหาของ ตอนนี้ แต่ละมาตรา มีตัวอย่าง (หรือ ตุ๊กตา ที่นักกฎหมายเรียกกัน ) ประกอบเป็นตัวอย่างคดี หรือ มีคำอธิบาย เพื่อประกอบความเข้าใจแต่ละมาตรา
ตัวอย่าง เช่น
มาตรา ๖ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลกระทำการโดยสุจริต
อุทาหรณ์-มาตรานี้หมายความว่าถ้า ก. โต๊แย้งว่า ข. กระทำการโดยทุจริตแล้ว ย่อมตกเป็นหน้าที่ ก. ที่จะนำสืบความทุจริตของ ข.
มาตรา ๗ ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และดอกเบี้ยนั้นมิได้กำหนดอัตราไว้โดยนิติกรรม ฤาโดยบทกฎหมายอันใดอันหนึ่งชัดแจ้งไว้ไซร้ ท่านให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งปี
อุทาหรณ์- ก. ตกลงให้ ข. ยืมเงินดดยต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่คู่กรณีลืมกำหนดอัตราไว้ในสัญญา ฉะนี้ ให้ใช้โดยอัตราร้อยละเจ็ดครั่งต่อปี
ตอนที่ ๒ ที่มาของบทกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ ถึง ๕
ส่วนนี้จะเป็นตาราง บอกให้ทราบว่า แต่ละมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ใช้แนวทางกฎหมายแพ่งของประเทศใดและมาตราใดมาเป็นแนวทางการร่างกฎหมายแพ่งฯของไทย
ตอนที่ ๓ รายชื่อหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษของท่านเจ้าคุณที่มอบให้แก่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ส่วนนี้เปรียบเสมือนบรรณานุกรมหนังสือกฎหมายหายากของไทย
บรรณานุกรม
มานวราชเสวี (ปลอดวิเชียร), พระยา. อุทาหรณ์สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑-๒ ฉบับกรมร่างกฎหมาย ; ที่มาของกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑-๕. [ม.ป.ท. : ม.ป.พ.], ๒๕๓๓.