เกร็ดจาก “คนชื่อป๋วย (A Man Called Puey)”

คนชื่อป๋วย  (A Man Called Puey)
คนชื่อป๋วย (A Man Called Puey)

นิทรรศการ คนชื่อป๋วย (A Man Called Puey) เป็นนิทรรศการชั่วคราวที่บอกเล่าเรื่องราวเกร็ดประวัติสำคัญของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงการดำเนินชีวิตของท่านที่เป็นแบบอย่างทั้งในด้านความเรียบง่าย ความซื่อสัตย์ และการเป็นคนดีของสังคม  ซึ่งมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้จัดทำขึ้น ในโอกาสรำลึก 99 ปี ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ทั้งนี้ ในพิธีเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิโครงการตำราฯ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์มาร่วมงาน พร้อมกับกล่าวถึง อาจารย์ป๋วย ในความทรงจำซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจ จึงได้สรุปความพร้อมเป็นเกร็ดที่น่าสนใจเพื่่อรำลึกถึง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

อาจารย์ป๋วย: คุณพ่อ ในความทรงจำ

อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ บุตรชาย ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ได้กล่าวถึง อ.ป๋วยว่า คุณพ่อเป็นคนธรรมดา และชอบที่จะให้ใครๆ เรียกท่านว่า อาจารย์ป๋วยมากกว่าอย่างอื่น ท่านเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับสิ่งของ คุณแม่ก็เหมือนกัน ผมจำได้ว่า หลังจากที่คุณพ่อเสีย คุณแม่เก็บของใช้คุณพ่อทิ้งเกือบทั้งหมด

อาจารย์ป๋วย: ต้นแบบคนทำงาน

คุณธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ว่า ท่านได้เข้ามาดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย และได้วางรากฐานการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศ ไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเงินของประเทศมีความมั่นคง รวมถึงหลักการทำงานต่างๆ ที่ท่านได้ปฏิบัติ ถือเป็นต้นแบบการทำงานให้แก่คนในธนาคารแห่งประเทศมาจนถึงปัจจุบันนี้

อาจารย์ป๋วย: ผู้สอนให้เข้าใจชุมชน

คุณเตือนใจ ดีเทศน์ หนึ่งในกลุ่มลูกศิษย์บัณฑิตอาสา ได้กล่าวถึง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์พร้อมกับเล่าถึงช่วงการเป็นบัณฑิตอาสารุ่นปีพ.ศ.2517-2519 ว่า อาจารย์ป๋วยสอนหลายอย่างโดยเฉพาะการทำงานร่วมกับชุมชน โดยให้ยึดหลัก 3 ประการ คือ ความดี หมายความว่า ทุกชุมชนมีคนดี ความงาม หมายความว่า ทุกชุมชนมีความงามที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และสุดท้ายคือ ความจริง ทุกชุมชนมีความจริง ซึ่งบัณฑิตอาสาส่วนใหญ่ได้นำหลักทั้ง 3 ประการนี้มาใช้เป็นแนวทางการในการทำงานร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด

อาจารย์ป๋วย: พัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณกาญจนาภรณ์ จิตต์สง่า หัวหน้าหอสมุดปรีดี พนมยงค์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ว่า อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถือเป็นผู้ริเริ่มให้มีการรวมงบประมาณด้านการจัดซื้อหนังสือตามคณะเพื่อการใช้งบประมาณที่คุ้มค่าของห้องสมุด และท่านยังให้ความสำคัญกับห้องสมุดเพราะถือเป็นแหล่งที่ช่วยให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

สำหรับผู้ที่สนใจเยี่ยมชมนิทรรศการดังกล่าว  สามารถเข้าชมได้ตลอดทั้งเดือนมีนาคม โดยได้จัดแสดงไว้ ณ โถงทางเข้า ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ชั้น  U1  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เวลาเปิด-ปิดบริการ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์

วันจันทร์-ศุกร์  เวลา 8.00-21.30 น.

เสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-21.30 น.

วันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดให้บริการ