ประวัติและพัฒนาการของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2558

2-4  กันยายน สำนักหอสมุด จัดประชุมวิชาการเรื่อง คิดใหม่ ทำใหม่ บรรณารักษ์ยุคใหม่ (Librarianship: the Next Generation) ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ

7 กรกฎาคม  นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการประชุมและจะนำเสนอเรื่อง “3Cs to learning: The Thammasat University Libraries Experience” ในการประชุม  36th Annual IATUL Conference เรื่อง “Strategic Partnerships for Access and Discovery”  ณ เมือง Hannover ประเทศเยอรมนี

22 มิถุนายน -9 กรกฎาคม  สำนักหอสมุด โดยศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มธ.ศูนย์รังสิต  ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดทดสอบสมรรถนะด้านการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และสมรรถนะด้านการคิด อ่านและเขียนอย่างมีวิจารณญาณ ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2558  เพื่อการวัดระดับก่อนให้นักศึกษาเลือกลงทะเบียนเรียนในวิชาการคิด อ่าน และเขียนอย่างมีวิจารณญาณ (TU 104) ทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ (TU 105) และความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสาร (TU 106) อย่างเหมาะสม

15 มิถุนายน – 24 มิถุนายน  สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับจดหมายเชิญจาก Center for Southeast Asian Studies Kyoto University หรือ ศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อส่งบุคลากรเข้าร่วมในกิจกรรมความร่วมมือสำหรับบรรณารักษ์และนักวิจัยรุ่นใหม่ ระหว่างมหาวิทยาลัยเกียวโต และสถาบันการศึกษาในประเทศไทย 3 แห่ง

2-5 มิถุนายน นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำทีมบุคลากรกว่า 130 คนร่วมในกิจกรรมสัมมนาบุคลากรประจำปีงบประมาณ 2558 โดยมีการจัดประชุมแผนงานการพัฒนาด้านต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาบริการ การบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดสวัสดิการของสำนักหอสมุดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ โรงแรมเจ้าหลาวทอแสงบีช จังหวัดจันทบุรี

21 พฤษภาคม สำนักหอสมุด ขอแสดงความยินดีกับศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ด้านนโยบาย ประจำปี ๒๕๕๗ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลวารสารวิชาการในประเทศและยกระดับวารสารไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล โดย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)”  ทั้งนี้ ผอ. ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ เป็นหนึ่งในนักวิจัยของผลงานดังกล่าว

ผู้อำนวยการ สำนักหอสมุด ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคลากรดีเด่นเด่นในวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ประจำปี 2557 จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

2 กุมภาพันธ์ อธิการบดี ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ พ.ศ.2558 ในข้อ 11 และ ข้อ 12 มีการระบุถึงการใช้รูปแบบตามหนังสือคู่มือการพิมพ์วิทยานิพนธ์ และการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์ MyCat (ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ พ.ศ.2558)

12 มกราคม สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตอย่างเป็นทางการ

พ.ศ. 2557

4-14 ตุลาคม นำร่องเปิดให้บริการศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 24 ชั่วโมงครั้งแรก

5 กันยายน อธิการดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

5 กันยายน บันทึกเสนอขออนุมัติแก้ไขระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ ถึงอธิการบดี ลงวันที่ 5 กันยายน 2557 จากรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พร้อมเปรียบเทียบความแตกต่างของระเบียบ มธ. ว่าด้วย วิทยานิพนธ์ พ.ศ.2535 (พร้อมด้วยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) กับร่างระเบียบ มธ.ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ พ.ศ. 2557 และ (ร่าง) ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ พ.ศ.2557 เพื่อเสนออธิการบดี ลงนาม

4-5 กันยายน จัดประชุมวิชาการเรื่อง การพัฒนาห้องสมุด : แนวโน้มในปัจจุบันและความท้าทายในอนาคต (Library Development : Current Trends and Future Challenges)  ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค

บัตรเชิญการประชุมวิชาการประจำปี 2557
บัตรเชิญการประชุมวิชาการประจำปี 2557

1 กันยายน เปิดให้บริการอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สิงหาคม เริ่มเดินสายในการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์ (MyCat)

28-30 กรกฎาคม  เปิดให้นักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ เข้าเยี่ยมชมอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในกิจกรรมวันแห่งการเรียนรู้เป็นครั้งแรก

25 กรกฎาคม ตรวจรับมอบอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

26 มิถุนายน สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวห้องสมุดดิจิทัล ในโอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดูวีดิทัศน์

บัตรเชิญงานเปิดห้องสมุดดิจิทัล
บัตรเชิญงานเปิดห้องสมุดดิจิทัล

พฤษภาคม  งานก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์
1
9 พฤษภาคม สำนักราชเลขาธิการ มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แจ้ง ชื่อภาษาอังกฤษของ “ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ว่า Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra Learning Centre

8 มีนาคม ขยายเวลางานก่อสร้างครั้งที่ 2  180 วัน (8 มีนาคม 2557-4  สิงหาคม 2557) ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ต่อ วัน

พ.ศ. 2556

9 กันยายน ขยายเวลางานก่อสร้างครั้งที่ 1  180 วัน (9 กันยายน 2556-7 มีนาคม 2557) ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554

สิงหาคม  มีบันทึกถึงรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เพื่อขอความเห็นชอบแนวทางการป้องกันการคัดลอกผลงานผู้อื่นในวิทยนิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ และแนวทางการส่งวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระฉบับสมบูรณฺ์

19 มิถุนายน สำนักหอสมุดได้ประชุมหารือร่วมกับทีมผู้พัฒนาระบบตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น และผู้แทนจากกองบริการการศึกษา มีการกำหนดแนวทางการป้องกันการคัดลอกผลงานผู้อื่นในวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ ตลอดจนแนวทางการส่งวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ

4 มีนาคม สำนักราชเลขาธิการ มีหนังสือแจ้งเรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

29 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ สำนักหอสมุด เป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อเรื่อง  “มิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด” ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2556 จัดที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

พ.ศ. 2555
จัดประชุมวิชาการเรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่ประชาคมอาเซียน (Learning and Sharing to Become One) ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2555

24 เมษายน บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ปรับปรุงและนำเสนอแบบอาคาร โครงการอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมครุภัณฑ์ 1 หลัง มหาวิทยาลัยศาสตร์ ศูนย์รังสิต

9 มกราคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกหนังสือ เลขที่ ศธ ๐๕๑๖/๑๕ ถึงสำนักราชเลขาธิการ เรื่องขอนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมในการขอพระบรมราชานุญาตขอพระราชทานนามศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

9 มกราคม ฟื้นฟูหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยเร่งดำเนินการทำความสะอาด อบอาคาร ฆ่าเชื้อรา จัดชั้นหนังสือ และการเตรียมความพร้อมในส่วนของการให้บริการทั้งหมด เพื่อสามารถเปิดให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด

4 มกราคม  หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ท่าพระจันทร์ ที่ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ได้ดำเนินการขนย้ายหนังสือและอุปกรณ์ต่างๆ (ที่เคยขนย้ายเพื่อเตรียมการรับมือกับน้ำท่วม) กลับที่เดิม และพร้อมจะเปิดให้บริการ

1 มกราคม เริ่มงานก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงราชนครินทร์อีกครั้งหลังน้ำลด

พ.ศ. 2554

ธันวาคม บริษัทผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างเข้าสำรวจความเสียหายและปรับสภาพพื้นที่การก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หลังน้ำลด

22 ตุลาคม น้ำท่วมพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ห้องสมุดศูนยรังสิต และหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ทำให้ต้องชะลอการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บันทึกน้ำท่วม

12 ตุลาคม
บริษัทผู้รับผิดชอบงานก่อสร้าง (บริษัท แคนดู คอนสตรั๊คชั้น จำกัด)เข้าปรับพื้นที่บริเวณด้านหลังอาคารหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อเริ่มงานก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

10 ตุลาคม – 14 ตุลาคม  สำนักหอสมุด ร่วมกันวางแผนเร่งดำเนินการขนย้ายหนังสือ ทรัพยากรสารสนเทศ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องสมุดเพื่อจัดเก็บในพื้นที่ปลอดภัย

20 ก้นยายน เริ่มสัญญาการก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  โดยมีบริษัท แคนดู คอนสตรั๊คชั้น จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้าง และบริษัท แปลน คอนซัลแตนท์ส จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน

1-2 กันยายน จัดประชุมวิชาการประจำปี 2554  เรื่อง  การบริหารห้องสมุดแบบมืออาชีพ (Professional Library Management) ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2554 ณ ห้องราชา โรงแรมปรินซ์พาเลซ

14 มิถุนายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกหนังสือ ที่ ศธ ๐๕๑๖/๙๕๔  ถึง สำนักราชเลขาธิการ เรื่อง ขอพระบรมราชานุญาตขอพระราชทานนามศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

30 มีนาคม สำนักหอสมุด ได้เข้าร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการรณรงค์ให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่าน

1 กุมภาพันธ์
 สำนักหอสมุด ได้เข้าร่วมเป็นสมัชชาการอ่านภายใต้โครงการสมัชชาการอ่านกรุงเทพมหานคร 2554 เพื่อร่วมรณรงค์ให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่านในปี ค.ศ. 2013

14 มกราคม กลุ่มความร่วมมือข่ายงานการส่งเสริมการอ่าน 7 สถาบันได้จัดกิจกรรมขึ้น โดยจัดฝึกอบรมการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และการจัดการเว็บไซต์ในเครือข่ายส่งเสริมการอ่านฯ ภายใต้โครงการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้จัดทำคลังหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในเครือข่ายส่งเสริมการอ่านเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีขึ้น

พ.ศ. 2553

6-7 ธันวาคม โดยการสนับสนุนจากศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการจัดสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดไทย-ลาว ครั้งที่ 1 ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ได้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการบริหารเชิงรุกของห้องสมุด

15 พฤศจิกายน สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในด้านวารสาร ด้านเทคโนโลยีและพัฒนาความตกลงด้านการบอกรับฐานข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน

การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

29 กันยายน รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี มธ. เห็นชอบในหลักการการสร้างศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

2-3 กันยายน จัดประชุมวิชาการเรื่อง กระบวนทัศน์การพัฒนาห้องสมุดสู่ความสำเร็จ (Paradigm of Library Development for Success) ณ ห้องราชา โรงแรมปรินซ์พาเลซ ผู้เข้าร่วมประชุม 388 คน

27 สิงหาคม มีการร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ในการทำงานงานห้องสมุดกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสำนักหอสมุดได้ขอลิขสิทธิ์หนังสือทางด้านกฎหมายบางชื่อจากอาจารย์คณะนิติศาสตร์ให้ สวทช. ผลิตหนังสือเสียง เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีความบกพร่องทางสายตาและนักศึกษาลาวที่มาเรียนในประเทศไทยด้วย

26 สิงหาคม การลงนามความร่วมมือทางวิชาการโดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน่วยงานจาก 4 สถาบัน ประกอบด้วย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาวิชาสารสนเทศศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการร่วมก้บ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิธีลงนามความร่วมมือ
พิธีลงนามความร่วมมือ

18 สิงหาคม เริ่มสัญญาจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมครุภัณฑ์ ๑ หลัง ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด

1 กรกฎาคม บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด จัดทำแบบแปลนอาคาร โครงการออกแบบ อาคารศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครุภัณฑ์ 1 หลัง เพื่อนำเสนอ

21 มิถุนายน ขออนุมัติดำเนินการจ้างเอกชนเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมครุภัณฑ์ ๑ หลังโดยวิธีตกลงราคา

2-3 เมษายน ได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 7 แห่ง ในการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการด้านส่งเสริมการอ่าน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวาระทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ. 2552-2561)

พ.ศ. 2552
27 ตุลาคม 
พิจารณาผลงานการออกแบบของบริษัทผู้ออกแบบ ๓ ราย โดยบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด คือ บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด

กันยายน สรุปการจัดสรรพื้นที่ภายในอาคาร รวมทั้งรับฟังการนำเสนอข้อมูล/ผลงานของบริษัทผู้ออกแบบและผลงานการออกแบบเบื้องต้น ของบริษัท ๔ บริษัท ได้แก่ บริษัท แปลน สตูดิโอ จำกัด บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด บริษัท ดี จี แอนด์ ซี จำกัด และบริษัท แปลน โมทิฟ จำกัด

3-4 กันยายน  จัดประชุมวิชาการประจำปี เรื่อง การจัดการการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดในทศวรรษหน้า (Change Management of Libraries in the Next Decade) ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 356 คน

ได้ร้บรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน รางวัลชมเชย ประเภทกระบวนงานการใหบริการยืมระหว่างห้องสมุด ท่าพระจันทร์-รังสิจ (Book Delivery) จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)  เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552

รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน รางวัลชมเชย ประเภทกระบวนงานการใหบริการยืมระหว่างห้องสมุด ท่าพระจันทร์-รังสิต (Book Delivery)
รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน รางวัลชมเชย ประเภทกระบวนงานการใหบริการยืมระหว่างห้องสมุด ท่าพระจันทร์-รังสิต (Book Delivery)
พิธีมอบรางวัล
พิธีมอบรางวัล
พิธีมอบรางวัล
พิธีมอบรางวัล

25 สิงหาคม มีข้อกำหนดการออกแบบก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรายละเอียดอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ

โดยมติสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุม ครั้งที่ 8 วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2552 อนุมัติให้สำนักหอสมุดปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ดังนี้

  1. ลดสายการบังคับบัญชาจาก 3 สาย (สายบริหารและพัฒนา/สายเทคนิค/สายบริการ) เป็น 2 สาย (สายบริหารและพัฒนา/สายบริการและส่งเสริมการเรียนรู้)
  2. รวมฝ่ายพัฒนาวัสดุสารนิเทศเข้ากับฝ่ายวิเคราะห์วัสดุสารนิเทศ และจัดตั้งเป็นฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศเพื่อความเป็นเอกภาพของการปฏิบัติงานเทคนิค โดยฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศอยู่ในสายการบังคับบัญชาของรองผู้อำนวยการสายบริหารและพัฒนา เช่นเดียวกับฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาห้องสมุด ฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด ฝ่ายสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศ และสำนักงานเลขานุการ ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงานภายในมีความเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและชัดเจน
  3. จัดตั้งฝ่ายวารสารเป็นฝ่ายใหม่อีกหนึ่งฝ่ายในสังกัดสายบริหารและพัฒนา เพื่อพัฒนางานตามลักษณะสารสนเทศ และพัฒนาคุณภาพ ความสามารถของบุคลากรให้ตรงตามงานที่ปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
  4. จัดตั้งงานงบประมาณ การเงินและบัญชีในสำนักงานเลขานุการเพื่อความคล่องตัวของการปฏิบัติงานการเงินสำนักหอสมุด เนื่องจากงบประมาณสำนักหอสมุดในแต่ละปีมีปริมาณสูง ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการพัฒนาตามสายวิชาชีพอย่างชัดเจน
  5. ยุบรวมศูนย์บริการสื่อการศึกษาเป็นงานบริการสื่อการศึกษาในสังกัดหอสมุดปรีดีพนมยงค์ เพื่อลดขนาดและจัดสรรงานให้เหมาะสมกับความรับผิดชอบ โดยตัดโอน 3 อัตราในหน้าที่การผลิตโสตทัศนวัสดุให้แก่มหาวิทยาลัย20150313-Organization-Chart-2552

1 สิงหาคม คณะทำงานฯ สรุปรายงานผลการศึกษาต่ออธิการบดี โดยร้อยละ 91 จากการสำรวจทั้งหมด 792 คน เห็นว่าควรดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้

23 มิถุนายน คณะทำงานฯดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

9 มิถุนายน  ประชุมคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรก

มิถุนายน
 เริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยการจัดทำตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความร่วมมือของกองแผนงานและสำนักหอสมุด

พ.ศ. 2551
28 กุมภาพันธ์ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้เปลี่ยนชื่อ ห้องสมุดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็น ห้องสมุดศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย

การจัดประชุมวิชาการประจำปี เรื่องการพัฒนาศักยภาพยุคใหม่ (Development of Library Potential in the New Age) ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2551 ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2550 (มิถุนายน)
ติดตั้งระบบ SFX ซึ่งช่วยในการสืบค้นข้อมูลวารสารจากฐานข้อมูลออนไลน์ที่สำนักหอสมุดบอกรับและให้บริการ

– ร่วมดำเนินการ “โครงการพัฒนาศูนย์ดรรชนีการอ้างอิงวารสารไทย” กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

– ร่วมดำเนินงานในฐานะ Governing Member ของ OCLC (Online Computer Library Center) ผู้นำในการนำเสนอบริการสืบค้นข้อมูลบรรณานุกรมห้องสมุดระหว่างประเทศ เพื่อความร่วมมือในการทำรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศโดยใช้บริการ WorldCat Connexion Service และจัดซื้อระบบ WorldCat Collection Analysis Service มาใช้ในการวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด

มิถุนายน ห้องสมุดสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปิดบริการ โอนย้ายมาร่วมกับหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์

17 สิงหาคม ปรับปรุงระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการใช้ห้องสมุดปี พ.ศ. 2542 โดยให้ข้าราชการบำนาญมีสิทธิเข้าใช้ห้องสมุดได้

29-30 สิงหาคม จัดประชุมวิชาการประจำปี 2550 เรื่อง “ห้องสมุดเชิงรุก : การปรับตัวสู่การเป็นห้องสมุดในโลกไร้พรมแดน” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้เข้าร่วม 200 คน

ตุลาคม ขยายบริการ Book Delivery ไปยังห้องสมุดศูนย์ภูมิภาค

พ.ศ. 2549

15 พฤศจิกายน เปิดบริการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ผ่าน proxy server

ตุลาคม การดำเนินการขนย้ายห้องสมุดคณะสังคมฯ เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เป็นความทรงจำหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตุลาคม สำนักหอสมุดเริ่มจัดทำแผนกลยุทธ์ สำนักหอสมุด ปีงบประมาณ 2550-2554 และกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่เป็น “องค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านบริการและส่งเสริมการเรียนรู้ บริหารโปร่งใส ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีและสารสนเทศ”

17 ตุลาคม จัดทำแผนพัฒนาการจัดการความรู้ ปีงบประมาณ 2550-2554

กรกฎาคม สำนักหอสมุดได้กำหนดค่านิยมหลักเป็น TULIBS โดยมีความหมาย คือ
T-Team มีการทำงานเป็นทีม
U-Unity ความเป็นเอกภาพ
L-Loyalty ความภักดีต่อองค์กร
I-Innovation นวัตกรรม
– Information การให้ข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กร
B-Best เป็นเลิศด้านบริการ
S-System การทำงานอย่างเป็นระบบ

5 มิถุนายน ห้องสมุดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ปิดบริการและโอนย้ายหนังสือให้หอสมุดปรีดี พนมยงค์ และหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์

1 มิถุนายน การประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์กับผู้บริหารสำนักหอสมุด ถึงการดำเนินการและบริการหลังการย้ายห้องสมุด

26 พฤษภาคม คณะสังคมสงเคราะห์ แจ้งสำนักหอสมุดถึงผลการประชุมคณาจารย์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 มีมติให้ย้ายห้องสมุดคณะสังคมฯ ไปรวมไว้ที่หอสมุดปรีดีฯ

27 มกราคม มีการหารือร่วมกันระหว่างคณะผู้แทนของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ กับผู้อำนวยการสำนักหอสมุด รองผู้อำนวยการสายบริการ และหัวหน้าห้องสมุดคณะสังคมฯ

พ.ศ. 2548

ห้องสมุดศูนย์พัทยาเข้าร่วมในระบบของสำนักหอสมุด

16 พฤศจิกายน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จัดให้มีการลงคะแนนในแบบเสนอความคิดเห็นต่อการพัฒนาห้องสมุดคณะสังคมฯ

เมษายน เปิดบริการ Book Delivery ระหว่างห้องสมุดที่ท่าพระจันทร์กับห้องสมุดในศูนย์รังสิต

28 มีนาคม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ได้มีบันทึกถึงผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ถึงมติให้ย้ายห้องสมุดคณะสังคมฯ ไปรวมกับหอสมุดปรีดีฯ

28 กุมภาพันธ์ คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ได้นำเรื่องห้องสมุดคณะสังคมฯ เข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหรของคณะฯ

17 กุมภาพันธ์ สำนักหอสมุดได้มีบันทึกแจ้งเรื่องการรวมห้องสมุดคณะสังคมฯ

1-4 กุมภาพันธ์ เปิดบริการสืบค้นข้อมูลดรรชนีวารสารและหนังสือพิมพ์ด้วยโปรแกรม IPAC

25 มกราคม สำนักหอสมุด ได้มีบันทึกถึงอธิการบดี แจ้งความเห็นชอบตามหลักการของคณะกรรมการดำเนินงานและขอให้หารือกับคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาต่อไป

7 มกราคม คณะกรรมการดำเนินงานของสำนักหอสมุด ได้มีการประชุมหารือและมีมติเห็นสมควรให้ย้ายห้องสมุดคณะสังคมฯ มารวมที่หอสมุดปรีดีฯ

พ.ศ. 2547

30 พฤศจิกายน ได้มีการหยิบยกข้อสังเกตของคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพภายในฯ เกี่ยวกับห้องสมุดขนาดเล็ก เช่น ห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์ฯ และห้องสมุดคณะสังคมฯ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรขึ้นหารือ อธิการบดีสมัยนั้น (ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์) ได้มีข้อเสนอแนะว่า สามารถย้ายห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์ฯ และห้องสมุดคณะสังคมฯ มารวมไว้ที่หอสมุดปรีดีฯ และจัดมุมหนังสือเฉพาะให้แก่ห้องสมุดดังกล่าว

จากการตรวจเยี่ยมกิจกรรมประกันคุณภาพการศึกษาของสำนักหอสมุด โดยคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพภายในของมหาวิทยาลัย ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับห้องสมุดคณะสังคมฯ ว่ามีขนาดเล็กและไม่สามารถขยายได้ มีผลทำให้มีพื้นที่สำหรับการจัดเก็บหนังสือและพื้นที่นั่งอ่าน-ค้นคว้า ไม่ได้มาตรฐานห้องสมุดระดับมหาวิทยาลัย

30 มีนาคม สำนักหอสมุดได้รับการประเมินคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยปรากฏผล คือสำนักหอสมุดเป็น 1 ใน 3 ของจุดแข็งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย

24 พฤษภาคม ห้องสมุดกลุ่มแพทย์ธรรมศาสตร์ย้ายจากอาคารปรีคลินิก ไปเปิดบริการที่ชั้น 7 อาคารปิยชาติ มีพื้นที่ 2,236 ตารางเมตร มีที่นั่งอ่าน 329 ที่นั่ง

26 กรกฎาคม ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เข้าร่วมเป็นห้องสมุดในระบบของสำนักหอสมุด โดยสำนักหอสมุดรับผิดชอบงานเทคนิคและงานบริการ

พ.ศ. 2546
เมษายน
สำนักหอสมุด Upgrade โปรแกรม Horizon จาก Version 5.2+4 เป็น Version Sunrise 7.21 และขยายเครือข่ายไปยังห้องสมุดธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

9 มิถุนายน หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เริ่มใช้ระบบยืม-คืนอัตโนมัติ (Self Check System) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถยืม-คืนหนังสือได้ด้วยตนเอง และเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่ใช้ระบบนี้

3 พฤศจิกายน หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดให้บริการห้องบริการสื่อการศึกษาและห้องกิจกรรม ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ด้วยงบประมาณในการปรับปรุง 20 ล้านบาท

พ.ศ. 2545 

ปรับปรุงระบบควบคมการเข้าออกในอาคาร (Access Control) ให้สามารถใช้งานแบบออนไลน์ได้ทั้งที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ และหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำนักหอสมุดจัดสรรงบประมาณค่าทรัพยากรสารสนเทศให้แก่โครงการปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ฯ ศูนย์จังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งได้ดำเนินการด้านเทคนิคเพื่อให้บริการ

1 กุมภาพันธ์ ศูนย์สนเทศเพื่อการวิจัยไทยคดีศึกษา ปิดให้บริการโอนย้ายทรัพยากรสารสนเทศไปให้บริการที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ และหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์

3 มิถุนายน หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดให้บริการแก่นักศึกษาคณาจารย์และข้าราชการที่โอนย้ายไปอยู่ศูนย์รังสิต หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีพื้นที่ 18,669 ตารางเมตร มีที่นั่งอ่าน 1,100 ที่นั่ง และนั่งอ่านเฉพาะบุคคล 50 ที่ มีหนังสือประมาณ 120,000 เล่ม วารสารภาษาไทย 278 รายการ ภาษาต่างประเทศ 130 รายการ หนังสือพิมพ์ภาษาไทยและต่างประเทศ 28 รายการ จัดทำคอลเล็กชั่นป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อเปิด Memorial Collection เผยแพร่เกียรติคุณของท่านต่อสาธารณชน

พ.ศ. 2544
ฝ่ายสงวนรักษาวัสดุสารนิเทศ เริ่มโครงการจัดทำ Digital Collection หนังสือหายาก สำนักหอสมุดเริ่มดำเนินการด้านเทคนิคและจัดสรรงบประมาณค่าทรัพยากรสารสนเทศให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

30 มิถุนายน อาคารยิมฯ 3 ได้สร้างสำเร็จมีพื้นที่ใช้สอย 18,669 ตารางเมตร อาคาร 3 ชั้นและมีการขนย้ายหนังสือจากหอสมุดปรีดี พนมยงค์ และห้องสมุดต่างๆ จากท่าพระจันทร์ไปบริการนักศึกษาในกลุ่มสังคมศาสตร์ฯ

กันยายน สำนักหอสมุดได้ปรับเปลี่ยนการประกันคุณภาพจากระบบคุณภาพ ISO 9000 ไปเป็นระบบประกันคุณภาพตามแนวทางของทบวงมหาวิทยาลัย และได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันคุณภาพการปฏิบัติงานของสำนักหอสมุด คณะกรรมการจัดทำเอกสารระบบประกันคุณภาพการปฏิบัติงานฯ และคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพภายในของสำนักหอสมุด เพื่อให้รับผิดชอบการพัฒนาระบบคุณภาพของสำนักหอสมุด ตามแนวทางของมหาวิทยาลัยและทบวงมหาวิทยาลัย

ธันวาคม  ห้องสมุดกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เปลี่ยนชื่อเป็น หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์

หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์
หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์
หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์
หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

พ.ศ. 2543
สำนักหอสมุดได้เตรียมความพร้อมการให้บริการห้องสมุด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มแพทย์ธรรมศาสตร์ เพื่อให้บริการแก่คณะต่างๆ ที่เปิดสอนที่ศูนย์รังสิต

1 ตุลาคม จัดตั้งฝ่ายสงวนรักษาวัสดุสารนิเทศ สังกัดสายบริหารและพัฒนา

พ.ศ. 2542
ได้จัดทำฐานข้อมูลดรรชนีบทความวารสารและหนังสือพิมพ์ไทย ใช้โปรแกรมWEBSIS CDS/ISIS ในแบบ web based ผ่านทาง URL http://Library2.tu.ac.th และได้ upgrade โปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Horizon จาก Version 3.2 เป็น Version 6.214 ให้บริการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ EBSCO OCLC Firstsearch

ในปีเดียวกันนี้ สำนักหอสมุดได้รับมอบอาคารยิมเนเซียมแฮนด์บอล (ยิม 3) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อปรับปรุงเป็นอาคารห้องสมุดและคลังหนังสือ โดยได้รับงบประมาณในการปรับปรุง 74,349,000 บาท เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2542

พ.ศ. 2541
27 มิถุนายน มีพิธีเปิด หอสมุดปรีดี พนมยงค์ โดยท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ เป็นประธานในพิธีเปิด และเปิดห้องสารนิเทศดนตรีเรวัต พุทธินันทน์ โดย คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งก่อสร้างโดยเงินบริจาคของกองทุนเรวัต พุทธินันทน์ จำนวน 6.9 ล้านบาท
พิธีเปิดอาคารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิธีเปิดอาคารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

พิธีเปิดห้องสารนิเทศดนตรีเรว้ต พุทธิน้นทน์
พิธีเปิดห้องสารนิเทศดนตรีเรว้ต พุทธิน้นทน์

ได้ดำเนินการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสืบค้นข้อมูลเครือข่ายInternet ของสำนักหอสมุดให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และให้บริการฐานข้อมูลซีดี-รอม ภายในระบบเครือข่าย (Intranet) และนำระบบบัตรแถบแม่เหล็กที่เรียกว่า “บัตรธรรมศาสตร์” มาใช้ในการเข้าห้องสมุด ยืม-คืน หนังสือ และสามารถใช้ชำระค่าหน่วยกิต ค่าธรรมเนียมการศึกษาของมหาวิทยาลัยด้วย

แก้ไขเพิ่มเติมและจัดทำหนังสือ “หัวเรื่องและวิธีการกำหนดหัวเรื่องสำหรับวัสดุสารนิเทศภาษาไทยของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3

พ.ศ. 2540
จัดตั้งห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

พ.ศ. 2540
2 ธันวาคม
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จมายังหอสมุด เพื่อทรงบันทึกเทปโทรทัศน์สารคดีนำชม “หอสมุดปรีดี พนมยงค์” พร้อมกับทรงใช้บริการสืบค้นข้อมูลด้วยระบบห้องสมุดอัตโนมัติ เพื่อแพร่ภาพออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ เนื่องในวันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ในโอกาสนี้ ท่านอธิการบดี รศ. นรนิติ เศรษฐบุตร ได้กราบทูลขอร่วมบริจาคสมทบในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำนวนเงิน 78,180 บาท รวมเป็นเงิน 100,00 บาท เพื่อก่อตั้งเป็นกองทุนสำหรับพัฒนาห้องสมุดต่อไป กองทุนดังกล่าว พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงพระกรุณาประทานชื่อในนาม  “กองทุนธรรมพัชร์”  คำว่า ธรรมพัชร์ หมายถึง “ธรรมแห่งปัญญา” 

ตึกสำนักหอสมุด อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี
ตึกสำนักหอสมุด อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี
บรรรยาการศภายในหอสมุดปรีดี พนมยงค์
บรรรยาการศภายในหอสมุดปรีดี พนมยงค์

28 พฤศจิกายน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ประทานพระวโรกาสให้ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดและผู้จัดทำหนังสือที่ระลึกพิธีเปิด “หอสมุดปรีดี พนมยงค์” เข้าเฝ้าเพื่อขอกราบทูลสัมภาษณ์พิเศษเรื่องห้องสมุดและหนังสือที่ทรงโปรด ณ พระตำหนักนนทบุรี ทรงประทานทุนทรัพย์ส่วนพระองคฺ์ให้แก่สำนักหอสมุด เป็นจำนวน 21,820 บาท (สองหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยยี่สิบบาท) เพื่อใช้ในการพัฒนากิจการต่างๆ ของสำนักหอสมุด ยังความปลื้มปิติให้แก่สำนักหอสมุดเป็นอย่างยิ่ง

10 พฤศจิกายน สภามหาวิทยาลัย ได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อห้องสมุดธรรมศาสตร์ (ห้องสมุดกลาง) เป็นหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ตามชื่อผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4 กรกฎาคม ห้องสมุดธรรมศาสตร์ ได้เปิดบริการอย่างเป็นทางการ ณ ชั้นใต้ดิน 1,2 และ 3 ตึกสำนักหอสมุด อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี เป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ 9000 ตารางเมตร “เป็นห้องสมุดแห่งแรกในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ใต้ดินถึง 3 ชั้น และได้ดำเนินการด้วยระบบห้องสมุดอัตโนมัติแบบบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบ

3 มีนาคม สำนักหอสมุดได้ย้ายเข้าสู่อาคารใหม่ “อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี” ได้พัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติเชื่อมเครือข่ายเป็นรูปแบบออนไลน์ และสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายของโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนกลาง (THAILINET) สามารถสืบค้นข้อมูลออนไลน์จากฐานข้อมูลบรรณานุกรมของสำนักหอสมุด (TULIB) ฐานข้อมูลดรรชนีวารสาร และฐานข้อมูล CD-ROM ได้

พ.ศ. 2539
สำนักหอสมุดได้จัดซื้อโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ HORIZON (Version 3.2) และทำการเชื่อมโยงกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย (TUNET) โดยทุกห้องสมุดในสังกัดสำนักหอสมุด สามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้

พ.ศ. 2538
ได้จัดซื้อระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Dynix Scholar เพื่อเข้าสู่การทำงานในระบบห้องสมุดอัตโนมัติเต็มรูปแบบ โดยเริ่มใช้กับฝ่ายวิเคราะห์ฯ เป็นฝ่ายแรกสำหรับทำฐานข้อมูลหนังสือภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ รวมทั้งโสตทัศนวัสดุของสำนักหอสมุดใช้ชื่อว่า TULIB

พ.ศ. 2537
มหาวิทยาลัยอนุมัติงบประมาณ 730 ล้าน เพื่อก่อสร้างตึกธรรมศาสตร์ 60 ปี ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคาร 2 หลัง คือ อาคารหอสมุดและตึกอเนกประสงค์ 2 ความสูง 7 ชั้น อยู่ใต้ดิน 3 ชั้น และบนดิน 2 ชั้น ส่วนที่ 3 และชั้นที่ 4 เป็นของคณะเศรษฐศาสตร์  โดยในวันที่ 13 พฤษภาคม 2537 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี ตึกหอสมุดและส่วนอาคารอเนกประสงค์ 2 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

อาคารดังกล่าวมีบริษัท เอส. เจ. เอ. ทรีดี จำกัด เป็นผู้ออกแบบอาคารหอสมุดและส่วนอเนกประสงค์ 2 ในพื้นที่อาคาร  40000 ตารางเมตร และเนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 16.00 เมตร จึงทำให้อาคารตามข้อกำหนดต้องออกแบบแยกอาคารเป็น 2 หลัง และต้องลงไปอยู่ใต้ดิน 3 ชั้น อาคารที่ลงไปอยู่ใต้ดินถึง 3 ชั้นนี้ อยู่ชิดแม่น้ำเจ้าพระยาและชิดอาคารเดิม 3 ด้าน

แก้ไขเพิ่มเติมและจัดทำหนังสือ “หัวเรื่องและวิธีการกำหนดหัวเรื่องสำหรับวัสดุสารนิเทศภาษาไทยของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2

พ.ศ. 2536
ย้ายห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ไปอยู่ที่อาคารคณะแพทยศาสตร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ห้องสมุดกลุ่มแพทยศาสตร์ ในปี 2537

พ.ศ. 2536
ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น ห้องสมุดป๋วย อี๊งภากรณ์

พ.ศ. 2535

ย้ายห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ไปอยู่ที่อาคารคณะแพทยศาสตร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ห้องสมุดกลุ่มแพทย์ธรรมศาสตร์ ในปี 2537

จัดทำหนังสือ “หัวเรื่องและวิธีการกำหนดหัวเรื่องสำหรับวัสดุสารนิเทศภาษาไทยของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โดยฝ่ายวิเคราะห์วัสดุสารนิเทศ

พ.ศ. 2535-2539
สำนักหอสมุด ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเวลา 4 ปี

พ.ศ. 2534
ก่อตั้งห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ มีที่ทำการชั่วคราวอยู่ในห้องสมุดศูนย์รังสิต

กรกฏาคม
ผู้อำนวยการ เพ็ญศรี ก๊วยสุวรรณ รับเป็นที่ปรึกษากลุ่มพัฒนาทรัพยากรห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Committee for Working Group of Information
Resource Development)

พ.ศ. 2533
20150313-Organization-Chart-2533

ดร. เพ็ญศรี ก๊วยสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ได้เสนอโครงสร้างการบริหารงานสำนักหอสมุดแบบใหม่ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531 โดยแบ่งออกเป็น 3 สาย คือ สายบริหารและพัฒนา สายเทคนิค และสายบริการ โดยมีรองผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาในแต่ละสาย และแบ่งหน่วยงานตามลักษณะงานออกเป็นฝ่าย โดยมีหัวหน้าฝ่ายเป็นผู้บังคับบัญชาตามโครงสร้าง คือ

1. สายบริหารและพัฒนา ประกอบไปด้วย 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานเลขานุการ ฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด และฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาห้องสมุด
2. สายเทคนิค ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ ฝ่ายพัฒนาวัสดุสารนิเทศ ฝ่ายวิเคราะห์วัสดุสารนิเทศ และฝ่ายผลิตรายการบัตรและจัดเตรียมวัสดุสารนิเทศเพื่อบริการ
3. สายบริการ ประกอบด้วย 11 หน่วยงานคือ ศูนย์บริการสื่อการศึกษา ห้องสมุดธรรมศาสตร์ (เดิมคือ ห้องสมุดกลาง) ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ (ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ เปลี่ยนชื่อใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2532 ห้องสมุดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ห้องสมุดศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม (เดิมคือห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ เปลี่ยนชื่อใหม่เมื่อ พ.ศ. 2528) ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ (เปลี่ยนชื่อเป็นห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2536) ห้องสมุดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน ศูนย์สนเทศเพื่อการวิจัยไทยคดีศึกษา (เดิมชื่อ ห้องสมุดสถาบันไทยคดีศึกษา เปลี่ยนชื่อใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2525) ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และห้องสุดสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา

27 พฤศจิกายน
สุกัญญา มกุฏอรดี  บุคลากรของสำนักฯ นำเสนอผลงานเรื่อง “การใช้ระบบจัดการฐานข้อมูลในการผลิตดรรชนีสารนิเทศทางกฎหมาย” ในการสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 8 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 ในหัวข้อ เรื่อง  กลยุทธ์การแสวงหาสารนิเทศ: ศาสตร์และศิลป์ (Information Seeking Strategies) ณ อาคารศศปาฐศาลา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2533

พ.ศ. 2532
ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์

พ.ศ. 2532
ได้มีการก่อสร้างอาคารหอสมุดใหม่

พ.ศ. 2531
สำนักหอสมุด เป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2531  หัวข้อเรื่อง ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษากับระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติ ของประเทศไทย

พ.ศ. 2529
สำนักหอสมุดได้จัดตั้งห้องสมุดสาขาขึ้นอีก 2 แห่ง คือ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และห้องสมุดสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา
20150313-Organization-Chart-2529

บรรรยากาศภายในห้องสมุดศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรรยากาศภายในห้องสมุดศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2528
ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น ห้องสมุด ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม

พ.ศ. 2527
ห้องสมุดเปลี่ยนชื่อเป็นห้องสมุดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตามแผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่ยกฐานะเป็นคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

พ.ศ. 2526
สำนักหอสมุดได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ แบ่งส่วนราชการของสำนักฯ ออกเป็น 7 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารสำนักงาน ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด ฝ่ายวิเคราะห์และทำบัตรรายการหนังสือ ฝ่ายบริการ ฝ่ายบริการสื่อการศึกษา ฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด และฝ่ายห้องสมุดสาขา 7 แห่ง

20150313-Organization-Chart-2526

พ.ศ. 2523
วารสารโดมทัศน์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 2523 ฉบับปฐมฤกษ์ ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรก  (ราย 3 เดือนปีละ 4 ฉบับ)

5 กันยายน
ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดในขณะนั้นคืออาจารย์ผกายวรรณ  เจียมเจริญ  มีคำสั่งลงวันที่ 5 กันยายน 2523 ”ให้ทุกห้องสมุดรวบรวมหนังสือต้องห้ามส่งห้องสมุดกลาง”

พ.ศ. 2522
สำนักหอสมุดได้มีอาคารเป็นของตนเองครั้งแรก คือ อาคารสำนักหอสมุด

อาคารห้องสมุดหลังเก่า
อาคารห้องสมุดหลังเก่า
บรรยากาศภายในหอสมุดเก่า
บรรยากาศภายในหอสมุดเก่า

พ.ศ. 2521
หัวหน้าแผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขอให้ห้องสมุดจัดแยกหนังสือด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาออกจากหนังสือด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยจัดแยกไว้เป็นสัดส่วนเฉพาะ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานที่คับแคบ จึงแยกงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และแผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาออกจากกัน ประทับตราตามงบประมาณที่จัดซื้อแต่ยังคงจัดเก็บหนังสือไว้รวมกันเหมือนเดิม

พ.ศ.  2520
มีการจัดทำคู่มือห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คู่มือห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คู่มือห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

พ.ศ. 2519

17 มีนาคม
ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการใช้ห้องสมุดกลาง พ.ศ. 2519  ประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม 2519 โดย ศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดี ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการใช้ห้องสมุดกลาง พ.ศ. 2519

(29 กันยายน)
กองห้องสมุดได้ยกฐานะเป็น “สำนักหอสมุด” ขึ้นตรงต่อรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มีผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงาน “สำนักหอสมุด” ประกอบด้วย ห้องสมุดกลางและห้องสมุดเฉพาะด้าน 7 แห่ง คือ ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ ห้องสมุดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ ห้องสมุดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ห้องสมุดแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน และห้องสมุดไทยคดีศึกษา

ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย วันที่ 28 กันยายน 2519 เรื่อง การแบ่งส่วนราชการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 93 แผนกกฤษฎกา ตอนที่ 126 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2519 หน้า 497-498 รายละเอียดในราชกิจจาบุเบกษา

“ห้องสมุดธรรมศาสตร์ เป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ยกฐานะเป็นสำนักหอสมุด มีสถานภาพเทียบเท่าคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมี นางผกายวรรณ เจียมเจริญ ตำแหน่งบรรณารักษ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักหอสมุด และเป็นบรรณารักษ์คนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ”

การบริหารงานมีการบริหารแบบศูนย์ร่วม โดยมีหอสมุดกลางรับผิดชอบงานด้านเทคนิคให้ห้องสมุดเฉพาะด้าน มีการแบ่งงานออกเป็น 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายงานบริหารสำนักงาน ฝ่ายงานเทคนิค ฝ่ายงานบริการและฝ่ายงานห้องสมุดเฉพาะด้าน ซึ่งหมายถึง ห้องสมุดคณะและสถาบัน 7 แห่ง

20150313-Organization-Chart-2519

พ.ศ. 2518
ห้องสมุดได้ปรับปรุงกองห้องสมุดเป็นการบริหารแบบศูนย์รวม (Centralization) โดยรวมห้องสมุดคณะ แผนกโสตทัศนศึกษารวมถึงสถาบันในสังกัดของมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด ซึ่งขณะนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เห็นชอบด้วยในหลักการและนำเสนอทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐเพื่อขออนุมัติ

พ.ศ. 2517
ได้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดหมู่หนังสือจากระบบทศนิยมดิวอี้ มาเป็น ระบบการจัดหมู่ของหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน

พ.ศ. 2516
ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารภายใน ทำให้กองห้องสมุดไปสังกัดสำนักงานอธิการบดี ขึ้นตรงต่อรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มีสถานภาพ “สำนักอิสระทางวิชาการ” เป็นก้าวแรกที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยอมรับว่างานห้องสมุดเป็นงานวิชาการ

20150313-Organization-Chart-2516

พ.ศ. 2513
ได้มีการก่อตั้งห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน

พ.ศ. 2511
ได้มีการจัดตั้งห้องสมุดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ณ ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์าสตร์

พ.ศ. 2510
มีการปรับปรุงการศึกษา ขั้นอุดมศึกษาทั่วประเทศ สภาการศึกษาแห่งชาติ ได้อนุมัติให้มีคณะกรรมการปรับปรุงห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ในขณะนั้นได้รับงบประมาณร่วมกัน แบ่งจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับงบประมาณในครั้งนี้เป็นเงิน 500,000 บาท ทำให้สามารถขยายงาน และบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น

พ.ศ. 2508
องค์การ ส.ป.อ. ได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งสำหรับโครงการฝึกฟังภาษา พร้อมให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้บริการนักศึกษา ในปีนี้ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้มีการก่อตั้งห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นได้รับความช่วยเหลือในด้านการจัดซื้อหนังสือและงานเทคนิคจากห้องสมุดธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2507 (12 กุมภาพันธ์)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมชมห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตรัสชมว่า “จัดได้ดี” และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 50,000 บาทให้ห้องสมุดเพื่อเป็นทุนในการปรับปรุงห้องสมุด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ

พ.ศ. 2506
เริ่มเปิดบริการโสตทัศนศึกษา ได้แก่ การจัดรายการดนตรีอมตะทั้งไทยและสากล จัดฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และบริการฝึกฟังภาษาต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ เสด็จเยี่ยมชมห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ เสด็จเยี่ยมชมห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิ่งของพระราชทาน
สิ่งของพระราชทาน

พ.ศ. 2504
มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกฐานะแผนกห้องสมุดเป็น “กองห้องสมุด” สังกัดสำนักงานเลขาธิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แบ่งงานออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกจัดหาหนังสือ แผนกจัดประเภทและบัตรรายการ และแผนกบริการและควบคุม ได้ขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้น มีที่นั่งอ่านหนังสือ 350 ที่นั่ง เปิดบริการห้องโสตทัศนศึกษา ในปีนี้ได้รับความสนับสนุนจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยสมัยนั้น คือ ศาสตราจารย์ ดร. อดุลย์ วิเชียรเจริญ ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการโดยให้งบประมาณเพิ่มเป็นปีละ 8 แสนบาท
20150313-Organization-Chart-2504

พ.ศ. 2501
ได้เริ่มปรับปรุงโครงสร้างห้องสมุดใหม่ ห้องสมุดได้แยกออกเป็นเอกเทศมีฐานะเป็น “แผนกห้องสมุด”  โดยมีอาจารย์จิตตรา ประนิช  ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกห้องสมุด มีการปรับปรุงงานให้ทันสมัยในด้านเทคนิคและบริการ ได้แบ่งหนังสือเป็นหมวดหมู่ มีการจัดทำเลขหมู่ระบบทศนิยมดิวอี้ และเพิ่มงบประมาณการจัดซื้อหนังสือและวัสดุต่างๆ ให้บริการในระบบชั้นเปิด ผู้ใช้สามารถค้นหาหนังสือได้ด้วยตนเอง และมีระบบชั้นเปิดเฉพาะหนังสือหายาก และหนังสือราคาแพงเท่านั้น

พ.ศ. 2500
ดร. ดักลาส จี. เอลสัน แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา รายงานผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าห้องสมุดธรรมศาสตร์ ควรได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและยังเสนอให้คณะลดชั่วโมงการบรรยายให้น้อยลง เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสค้นคว้าด้วยตนเองในห้องสมุดมากขึ้น

พ.ศ. 2496
สำนักข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย ได้มอบหนังสือตำราภาษาอังกฤษในสาขาวิชาต่างๆ ให้แก่ห้อง สมุด รวมทั้งอุปกรณ์การดำเนินงานห้องสมุด และอุปกรณ์โสตทัศนศึกษา นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณ
ปีละประมาณ 12,000-15,000 บาทให้แก่ห้องสมุดเพื่อจัดซื้อหนังสือ วารสาร และสิ่งพิมพ์อื่นๆ

 

ตึกอำนวยการ
ตึกอำนวยการ


พ.ศ. 2495
ตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อจาก “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” เป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และมีการปรับปรุงกิจการตำราของมหาวิทยาลัย รวมทั้งกิจการด้านห้องสมุด

พ.ศ. 2479  (1 กันยายน)
ห้องสมุดเปิดบริการเป็นครั้งแรก มีที่ทำการอยู่ ณ ชั้นที่ 2 ของตึกอำนวยการที่มียอดเป็นรูปโดม ที่ ถือเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยสืบมา ห้องสมุดมีพื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร มีที่นั่งอ่าน 65 ที่นั่ง หนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือ ตำรา กฎหมาย และการปกครอง เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้เป็น บันทึกคำบรรยายวิชาการต่างๆ และในปีนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แผนกแปลและห้องสมุด” โดยมี หลวงพิรัช พิสดาร เป็นหัวหน้าแผนก นายสวาท อินทรสุขศรี เป็นเจ้าหน้าที่ และศาสตาจารย์ เอช เอย์กูต์ เป็นพนักงานแปลประจำห้องสมุดให้บริการในระบบชั้นปิด หนังสือถูกเก็บไว้ในตู้ใส่กุญแจ ผู้เข้าใช้ห้องสมุดส่วนใหญ่เป็นอาจารย์เท่านั้น เพราะนักศึกษาที่เข้ามาเรียนจะมีอาชีพประจำ จึงมักจะไม่เข้าห้องสมุด

พ.ศ. 2477
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง มีฐานะเป็นแผนกตำราและห้องสมุด สังกัดฝ่ายธุรการ มีพระยาศรีสยามกิจ เป็นหัวหน้าแผนกคนแรก ระยะแรกนี้ได้รับโอนหนังสือตำราส่วนหนึ่งจากหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นหนังสือและวารสารในสาขาวิชากฎหมาย และการปกครอง แต่ยังไม่เปิดให้บริการห้องสมุด

img_0199      img_0192