บุคลากรที่อยู่ในวงการห้องสมุดหรือศูนย์เอกสารสนเทศต่างๆ คงไม่มีใครไม่รู้จักเลข ISBN หรือ เลข ISSN เพราะเป็นเลขที่อยู่คู่สิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือและวารสารกันมายาวนาน เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เลขอีกชนิดหนึ่งที่ทุกคนควรรู้จักคือเลข DOI หรือเรียกด้วยภาษาทางการคือ ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) (อังกฤษ: Digital Object Identifier: DOI) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล หรือทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอกสารดิจิทัล ทำหน้าที่เป็นรหัสทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล คล้ายกับเลข ISBN หรือ ISSN แต่มีความแตกต่างที่ DOI มีความซับซ้อนมากกว่า โดยมีเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงไฟล์ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลจากรหัส DOI ได้ มีการจัดการฐานข้อมูล metadata และการอ้างถึง ซึ่งตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) นั้นเป็นตัวบ่งชี้ถาวรของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล (Permanent Identifier) หรือ Persistent Identifier โดยรหัสนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ที่ใช้จัดเก็บ (Location) หรือสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพยากรสารสนเทศนั้น
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สมัครสมาชิกเป็นผู้บริหารจัดการตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) ด้านการวิจัยของประเทศกับ DataCite ซึ่งเป็น Registration Agencies (RA) และได้รับการยอมรับจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ DataCite ให้เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบลำดับที่ 17 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555
หากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักพิมพ์ หน่วยงานรัฐบาล หรือห้องสมุด ที่ได้จัดทำสิ่งพิมพ์ประเภทงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และวารสาร ให้อยู่ในรูปดิจิทัลและให้บริการการเข้าถึงเอกสารฉบับเต็มแบบสาธารณะ เมื่อต้องการขอเลข DOI มีวิธีการง่ายๆ ดังนี้
- เข้าที่เว็บไซต์ http://doi.nrct.go.th/doidc/index.php
- ลงทะเบียน โดยเลือกที่ “สมัครใช้บริการ”
- เลือกประเภทของสิ่งพิมพ์ที่ต้องการจะขอเลข DOI ได้แก่ งานวิจัย/วิทยานิพนธ์ หรือ วารสาร
- กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน จากนั้นคลิก “ลงทะเบียน”
- หลังจากลงทะเบียนแล้ว ให้รอการตอบกลับจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทางอีเมลที่ได้กรอกไว้ตอนลงทะเบียน
- นำ username/password ที่สมัครไว้มา Login เข้าระบบเพื่อดำเนินการขอเลข DOI ต่อไป